กลุ่มผู้นำด้านเกษตรกรรมไทย โดย นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย (ส.อ.ท.) ดร. ชาตรี พิทักษ์ไพรวัน อดีตนายกสมาคมอารักขาพืชไทย นายปราโมทย์ ติรไพรวงศ์ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร และดร. วีรวุฒิ กตัญญูกุล อดีตนายกสมาคมคนไทยธรกิจเกษตร พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกร นายนิวัติ ปากวิเศษ ประธานชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย และนายวัลลภ ปริวัฒน์ รองนายกสมาคมการส่งออกทุเรียน มังคุด แห่งประเทศไทย ออกแถลงจุดยืนแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนเกษตรกรไทย ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอันทันสมัยต่าง ๆ ในการประกอบอาชีพของพวกเขา ซึ่งรวมถึงการใช้สารอารักขาพืช ที่มีประสิทธิภาพด้วยความรับผิดชอบ หลังจากการพิจารณาทบทวนของภาครัฐ ที่อาจมีผลทำให้มีการห้ามใช้หรือการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิดในการปกป้องพืชผล
นายปราโมทย์ ติรไพรวงศ์ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า "เกษตรกรไทยทั้งหลายสมควรได้รับการสนับสนุนและมีทางเลือกในการแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องกังวลถึงกลุ่มกิจกรรมใด ๆ เพราะพวกเขาคือผู้ผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงคนทั้งชาติ ผู้โอบอุ้มประเทศอยู่เบื้องหลัง พวกเราขอยืนหยัดปกป้องสิทธิของพี่น้องเกษตรกรไทยให้สามารถใช้อุปกรณ์หรือเครื่องทุ่นแรงที่มีประสิทธิภาพที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพของพวกเขา และเราก็ได้ไปยื่นจดหมายต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ทราบเรื่องนี้ และยินดีให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐและขอร้องให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับเกษตรกรไทยเป็นอันดับแรก"
สารอารักขาพืช ที่มีการพิจาณาอาจถูกสั่งห้ามใช้หรือจำกัดการใช้นั้น นับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนตลาดส่งออกผลไม้ของไทย ที่มีมูลค่าส่งออกถึง 1 แสนล้านบาท และเติบโตถึงร้อยละ 30 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความนิยมผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศที่แข็งแกร่งเช่นนี้ อาจได้รับผลกระทบจากการพิจารณาสั่งห้ามหรือจำกัดการใช้สารอารักขาพืช ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย และส่งผลต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง
นอกจากนี้ สาร 2 ชนิดที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาสั่งห้ามหรือจำกัดการใช้งานนั้น ล้วนเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับเกษตรกรในการบริหารจัดการวัชพืชในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด และอ้อย ซึ่งการยกเลิกหรือจำกัดการใช้สารเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบสำคัญ ทำให้ต้นทุนการกำจัดวัชพืชโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 8,100 – 70,000 ล้านบาท และเสียผลผลิตอีกกว่า 4.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 13,500 – 100,000 ล้านบาท[1]
นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า "เมื่อหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เกษตรกรไทยจากที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ร่วมแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การเกษตรไทยต้องการใช้เทคโนโลยีการอารักขาพืชผลมากขึ้น โดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืช เนื่องจากแรงงานขาดแคลน และค่าแรงสูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรต้องต่อสู้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความแห้งแล้งที่รุนแรงขึ้น น้ำท่วม ศัตรูพืช วัชพืช และโรคภัยต่าง ๆ พวกเขาจึงต้องการตัวช่วยที่สอดคล้องกับยุคศตวรรษที่ 21 ที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ"
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้มีการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียในการยกเลิกหรือจำกัดการใช้สารอารักขาพืช 3 ชนิด โดยได้ทำประชาพิจารณ์ขึ้นทั่วประเทศในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งสุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ขอนแก่น และกรุงเทพมหานคร โดยเกษตรกรไทยหลายร้อยรายได้เข้าร่วมเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และแสดงความจำนงที่จะใช้สารอารักขาพืช 3 ชนิด ทั้งนี้เกษตรกรยืนยันด้วยประสบการณ์อันยาวนานว่า การใช้ตามคำแนะนำ และปฏิบัติอย่างถูกต้องจะไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ
นวัตกรรมการปกป้องพืชผลนั้น เป็นกำลังขับเคลื่อนการผลิตในภาคเกษตรของไทยและทั่วโลกอย่างไร้ข้อกังขา กล่าวคือ ปริมาณผลผลิตอาหารทั้งหมดทั่วโลกอาจต้องสูญเสียราวร้อยละ 50 เนื่องจากศัตรูพืช วัชพืช และโรคพืช หากไม่มีเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแนวทางการปกป้องผลผลิตต่าง ๆ
ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีเหล่านี้ยังให้คุณประโยชน์ในการช่วยเหลือเกษตรกรไทย โดยแบ่งเบาภาระจากการใช้วิธีการกำจัดวัชพืชด้วยมือที่ล้าสมัยและไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หากปราศจากสารกำจัดวัชพืช การถอนวัชพืชในพื้นที่ 6.25 ไร่ หรือ 10,000 ตารางเมตร จะกินเวลากว่า 126 ชั่วโมงโดยประมาณ และต้องเดินก้มขึ้นลงกว่า 10 กิโลเมตร การลดภาระงานที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จะช่วยรักษาสุขภาพของเกษตรกรไทยและสมาชิกในครอบครัว
การกลับไปสู่วิธีการเดิม ๆ และทำให้พัฒนาการด้านการเกษตรของชาตินับทศวรรษที่ผ่านมาเสียเปล่า จะเป็นการสวนทางต่อความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะก้าวไปสู่นโยบายประเทศไทย 4.0 ที่เป็นแนวทางเสริมสร้างการเติบโตของชาติในอนาคต รวมทั้งข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างผลิตภาพในภาคเกษตรให้รุดหน้า ด้วยประสิทธิภาพที่เพิ่มพูนขึ้นและใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มิใช่การลดทอนเทคโนโลยี
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit