เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วม ณ แปลงนา บริเวณบ้านหนองปลาดุก ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร บนพื้นที่จำนวน 8 ไร่ และมอบปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 137 ราย
ประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกพันธุ์สกลนคร พันธุ์ปลากินพืช กิ่งพันธุ์มะนาว ไก่ดำภูพาน และชุดสมุนไพร โดยมี นายนภดล จารุพงศ์ ปลัดจังหวัดสกลนคร เป็นประธานในพิธี และนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวรายงาน โดยมีนายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ นายอำเภอเมืองสกลนคร พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงาน ประชาชน และเจ้าหน้าที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯเข้าร่วมโครงการอย่างเนืองแน่น
สำหรับข้าวพันธุ์สกลนคร เป็นข้าวเหนียว มีกลิ่นหอม ไม่ไวต่อช่วงแสง ผสมพันธุ์ระหว่างข้าวพันธุ์หอมอ้ม เป็นพันธุ์แม่ กับพันธุ์ กข10 เป็นพันธุ์พ่อ ที่สถานีทดลองข้าวขอนแก่น ในปี 2525 นำมา ปลูกศึกษาที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่ปี 2534 ที่ผ่านมา ในชื่อ "สกลนคร 69 หรือ SKN 69" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "หอมภูพาน" และทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( สำนักงาน กปร. ) ได้สนับสนุนให้มีการขยายผลสู่เกษตรกรในจังหวัดสกลนครและใกล้เคียงนำไปเพาะปลูก โดยส่งเสริมให้ปลูกทั้งแบบข้าวไร่และข้าวนาสวน
ข้อควรระวังสำหรับเกษตรกรที่นำไปปลูกคือ เป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง ตลอดถึงไม่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ฉะนั้นพื้นที่ที่เหมาะสมในการนำไปเพาะปลูกคือพื้นที่นาดอน นาชลประทาน และสภาพไร่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งจะสามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี โดยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ในการตกกล้าสำหรับนาแบบปักดำในพื้นที่ 1 ไร่ คือ 5 กิโลกรัม โดยเมล็ดมีความงอกไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนำต้นกล้าลงปลูกในแปลงถ้าดินอุดมสมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องหว่านปุ๋ยเคมี แต่ถ้าดินไม่อุดมสมบูรณ์ควรมีการใส่ปุ๋ยพืชสด เช่น ปอเทือง โสนอัฟริกัน พืชตระกูลถั่วอื่นๆ หรือปุ๋ยคอกและจากการปลูกเพื่อศึกษาทดลองของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และประสบความสำเร็จนับเป็นผลงานดีเด่นในอันดับที่ 19 ของศูนย์ฯอีกด้วย