นายสุรพงษ์ พรมเท้า รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติหรือ สช. กล่าวว่า เป้าหมายของเราคือ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ไม่มีอาการเจ็บป่วย หรือหมายถึงการสร้างเสริมสุขภาพ หากเปรียบกับหน้าที่ของสช.เองจึงเสมือนกับต้นน้ำ ที่เราต้องปูพื้นฐานสร้าง มิติเรียนรู้ ในการดูแลสุขภาพ เพื่อนำส่งไปยังกลางน้ำ คือการบริการที่เป็นธรรม และส่งต่อไปยังปลายน้ำ ที่มักเกิดกับการเจ็บป่วยกะทันหัน ฉุกเฉิน เราจะมีวิธีการดูแลอย่างไร โดยประสานกันร่วมกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. อย่างต่อเนื่อง ผ่าน โครงการจิตอาสา ตามเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ที่ทำการอบรม ให้ความรู้เรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉิน การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ถือเป็นความเชื่อมโยงในเครือข่าย มุ่งสู่ความยั่งยืน
"โครงการจิตอาสา นับเป็นเป็นโครงการพิเศษ ที่ร่วมกันทำกับ สพฉ.ที่มาหนุนเสริมในการที่จะ ทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ยกตัวอย่าง เมื่อมีผู้ป่วยเปราะบาง หมดสติ หรือช๊อค ถ้าไม่มีจิตอาสา ที่มีความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน หรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ และนับตั้งแต่มีโครงการจิตอาสานี้มา สามารถเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ตอบโจทย์การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้เป็นอย่างดี"รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติหรือ สช. กล่าว
นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารระบบสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ใจความใน พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 บางคนอาจดูเหมือนว่าเป็นการบังคับใช้ แต่ที่จริงแล้ว คือการคุ้มครองผู้ป่วยอาการทางจิต ที่ต้องได้รับการดูแล และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ทั้งนี้หลายคนอาจมองผู้ป่วยทางจิตว่ามีพฤติกรรมอันตราย แต่โดยข้อเท็จจริง คนพวกนี้คือผู้ป่วยเรื้อรัง ที่เกิดจากอาการป่วยทางสมอง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมได้ ขอยืนยันว่า ผู้ป่วยทางจิต หากมีวิธีการรักษาทางการแพทย์อย่างถูกวิธี สามารถหายขาดได้
"พระราชบัญญัติ สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มีข้อดีนอกจากคุ้มครองผู้ป่วยทางจิตแล้ว พระราชบัญญัตินี้สามารถส่งต่อผู้ป่วยทางจิตนี้ไปยังสถานพยาบาลได้ ผ่านการประสานกับเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินสายด่วน 1669 ซึ่งมีสิทธิศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนปกติ แต่ข้อเสียคือ ยังไม่มีการรับรู้แก่บุคคลทั่วไปมากนัก ทำให้หลายคนเข้าใจผิด ยกตัวอย่างเช่น หากพบเห็นผู้ป่วยทางจิต หลายคนเข้าใจว่า สามารถนำส่งไปยังสถานพยาบาลได้ ซึ่งอาจไม่ถูกต้องเพราะกฎหมายไม่คุ้มครอง ทางที่ดีควรแจ้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ผ่านสายด่วน 1669 เพื่อนำส่งจะดีกว่า เพราะเรามีการประสานเป็นเครือข่ายกันอย่างต่อเนื่องตลอด"ผู้อำนวยการสำนักบริหารระบบสุขภาพจิตกรมสุขภาพจิต กล่าว
นายวัฒนา โพธา ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้เราเครือข่ายที่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ในการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งให้ความรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในด้านต่างๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่เรามีจุดมุ่งหมายสำคัญ ที่ต้องไม่ผลักผู้สูงอายุเหล่านี้ไปที่ศูนย์คนชรา ทั้งนี้เรามีแนวคิดที่ขยายเครือข่าย พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากร อสม.ไปในตัว โดยภายในปี 2560 จะมี อสม.ประมาณ 5 แสนคน และในปี 2564 จะขยายเครือข่ายอสม. ประมาณ 4 ล้านคน โดยเน้นย้ำไปที่ว่าพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งมีการประสานเป็นเครือข่ายร่วมกัน เพราะทุกวันนี้เกิดภัยพิบัติจำนวนมาก ซึ่งในหลายพื้นที่ก็ตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติ เป็นภูเขา รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น
ด้านนพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ.กล่าวว่า กรณีการเชื่อมโยงเครือข่าย ปัจจุบันมีการประชุมวิชาการกันอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการรวมพลังครั้งยิ่งใหญ่ ทั้ง อาสาสมัคร การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมกันพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นไปตามแนวทางการกระจายอำนาจ และเครือข่ายที่สำคัญคือ ผู้รับบริการ ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วม คือเครือข่ายภาคประชาชนนั่นเอง เพราะเรื่องที่เราทำเรามีจุดร่วมกัน คือการเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างเท่าเทียม อย่างผู้พิการที่ต้องใช้ภาษามือ เราก็ต้องพัฒนาระบบให้เข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นบนเกาะบนเขา ทะเล ต้องมีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน และที่สำคัญต้องมีประสิทธิภาพ ทั้งทางทางบก เรือ อากาศ ต้องมีการเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะในส่วนของข้อมูล โดยขณะนี้ทางสพฉ.มีเครื่องสแกนลายนิ้วมือ ที่เมื่อทำการสแกนแล้วจะรู้ว่าผู้ป่วยคือใคร รู้ว่าคนๆนั้น มีสุขภาพเป็นอย่างไร ซึ่งเราได้พัฒนาเทคโนโลยีไปถึงจุดนั้นแล้ว
"ถามว่าถ้าปล่อยให้ภาครัฐดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวจะสำเร็จได้หรือไม่ ถ้าพวกเราหรือภาคประชาชนไม่ลุกขึ้นมามีส่วนร่วม อย่างน้อยที่สุดระหว่างรอผู้ป่วยไปส่งยังโรงพยาบาล เราสามารถปั้มหัวใจได้ ทำการช่วยเหลือเบื้องต้นได้ รู้ว่าเบอร์เจ็บป่วยฉุกเฉินคือ1669 ไม่ใช่ เบอร์ 191 รู้จักการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED เพียงรู้วิธีการใช้ตามขั้นตอน ก็สามารถช่วยเหลือชีวิตคนได้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่เราเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งการที่เครือข่ายภาคประชาชนมาประชุมอบรมในครั้งนี้ สามารถนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดไปยัง ชุมชน ครัวเรือน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านการแพทย์ฉุกเฉินต่อไป"รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ.กล่าว
นายชัยพร ภูผารัตน์ อุปนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เราเป็นกลุ่มคนที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า จะสามารถทำการช่วยเหลือสังคมได้อย่างไร ยกตัวอย่างกรณีน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา เรามีการประสานเครือข่ายเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินมาโดยตลอด โดยเฉพาะการฝึกอบรมในเบื้องต้นเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเราได้มีการตั้ง สถานีฉุกเฉิน เพื่อทำการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมโดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้พิการ ซึ่งผลการดำเนินการเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก
"เครือข่ายของเรามีทีมไปดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งการจัดทีมลงไปเยี่ยม การประสานไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติว่าจะส่งต่อผู้ป่วยอย่างไร การปฐมพยาบาลเบื้องต้นควรทำอย่างไร อย่างเรื่องอุปกรณ์ เราลงทุนซื้อวีลแชร์ เพื่อให้การช่วยเหลือ เราพยายามทำทุกอย่าง เพื่อการบูรณาการร่วมกัน เพราะคนพิการย่อมเข้าใจคนพิการด้วยกัน ซึ่งคนพิการแต่ละประเภทมีความต้องการที่แตกต่างกันไป นำมาซึ่งการช่วยเหลือผู้พิการที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ"อุปนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย กล่าว
ทั้งนี้การจัดงานในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เครือข่ายภาคประชาชนมีความรู้ ในการแจ้งเหตุ การช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภาวะฉุกเฉินทั้งในภาวะปกติและภัยพิบัติ และการสื่อสารสาธารณะสู่ประชาชน รวมไปถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้เครือข่ายภาคประชาชน ทำให้ประชาชนมีความรู้เบื้องต้นและสามารถดูแลตนเอง ครอบครัว ชุมชน และช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งในภาวะปกติและสาธารณภัยได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยเฉพาะผู้เปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้จะอาศัยแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมไปถึงเครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคเอกชนต่างๆ โดยสพฉ. มีเครือข่ายจำนวน 87 แห่งที่มาร่วมกันเป็นเครือข่ายอาสาสมัคร
สำหรับเนื้อหาของงานในครั้งนี้จะเน้นการแก้ไขปัญหาของการเจ็บป่วยฉุกเฉินในประเทศไทย 7 เรื่องที่ ประกอบด้วย 1.การป้องกันอุบัติเหตุ และลดการบาดเจ็บทางถนน 2. การดูแล และช่วยเหลือฉุกเฉินผู้ป่วยจิตเวช 3.การแจ้งเหตุเหตุฉุกเฉิน การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) 4.การป้องกัน และเข้าถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 5.การป้องกันและการช่วยเหลือเด็กจมน้ำ 6.การป้องกันและเอาตัวรอดจากอัคคีภัย และ 7.ความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว และการแจ้งเตือนภัยสึนามิ ซึ่งองค์ความรู้ทั้ง 7 เรื่องนี้ได้เชิญวิทยากรซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะมาบรรยายและสาธิตหลักปฏิบัติด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit