กำลังซื้อของครัวเรือนไทยยังไม่ดีขึ้นตามกำลังซื้อจากต่างประเทศ แม้ว่าการใช้จ่ายของผู้มีรายได้สูงจะค่อนข้างดี สะท้อนจากยอดขายสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์นั่งที่มีอัตราการเติบโตสูง แต่การใช้จ่ายของผู้มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยยังคงซบเซา เห็นได้จากรายจ่ายในสินค้าจำเป็นอย่างอาหารและเครื่องดื่มที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของรายได้เกษตรกรที่ลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก ในขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรมีแนวโน้มทรงตัว ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าครัวเรือนไทยยังมีแนวโน้มที่จะชะลอการก่อหนี้ใหม่ เพราะยังมีภาระหนี้เดิมในระดับสูงประกอบกับมีการปรับมาตรการควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลตามขั้นรายได้ใหม่ที่เริ่มมีผลตั้งแต่ไตรมาสที่3 ปี 2560 เป็นต้นไป
อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2561 โต 3.5% จากแรงหนุนการลงทุนทั้งรัฐและเอกชน นอกจากการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของภาครัฐแล้ว อีไอซียังเห็นหลายสัญญาณบ่งชี้ว่าภาคเอกชนน่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2561 ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมส่งออกที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความสนใจของต่างชาติที่จะลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และจากการเข้าบุกตลาดผู้บริโภคไทยของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่จะนำไปสู่ความต้องการการลงทุนในด้านต่างๆ เช่น การขนส่ง การเก็บและกระจายสินค้า การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น อย่างไรก็ดี ประเด็นการขาดแคลนแรงงานจากการปรับตัวรับ พรก. แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ และกำลังซื้อของครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ที่ยังชะลอตัว เป็นปัจจัยหลักที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในปี 2561 ได้
อีไอซีแนะธุรกิจทำความเข้าใจรูปแบบเศรษฐกิจและธุรกิจในบริบทใหม่จากการเติบโตของผู้บริโภคยุคดิจิทัล ตลาดผู้บริโภคยุคดิจิทัลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย รวมถึงในกลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย และจีน ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงกันแล้วจะมีฐานผู้บริโภคกว่า 3,000 ล้านคน จึงมีศักยภาพที่จะสร้างโอกาสและมูลค่าให้แก่ธุรกิจได้อย่างมหาศาล อีไอซีมองว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีแนวโน้มขยายตัวเด่นชัดทั้งในฝั่งของผู้ให้บริการและฐานผู้บริโภคในปี 2561 และประเมินว่าโมเดลธุรกิจที่เน้นผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางและตอบสนองความต้องการตรงจุดแก่ผู้บริโภคจะมีความสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจในระยะต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit