นายกฤษฎา รัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ททท. ได้รับนโยบายมาจากรัฐบาลให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (sport tourism) กำหนดจัดกิจกรรมวิ่งศรีราชา กรังปรีซ์ ขึ้น โดยการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ศรีราชา ซึ่งการจัดงานวิ่งดังกล่าว มีนักวิ่งต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่บางพระและศรีราชา จำนวนมากถึง 53 จังหวัดจากทั่วประเทศ รวมกว่า 3,000 คน ทำให้อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โรงแรมทยอยเต็มตั้งแต่เริ่มเปิดรับสมัคร ในช่วงวันงานมีการจับจ่ายใช้สอย ใช้บริการร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ และบริการที่เกี่ยวข้องมากมาย สร้างเศรษฐกิจให้กับท้องที่ศรีราชาได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ในเรื่องสุขภาพคือการได้ออกกำลังกาย สร้างน้ำใจนักกีฬา โดยในงานมีกลุ่มครอบครัว พี่น้อง เพื่อนฝูง มาวิ่งด้วยกันมากมาย จึงเป็นกิจกรรมที่สร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นให้เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
นายรัฐ จิโรจน์วณิชชากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ในฐานะผู้อำนวยการ การจัดงานวิ่งฮาล์ฟมาราธอน "SRIRACHA GRAND PRIX" เปิดเผยถึงความสำเร็จของการจัดงานในครั้งนี้ว่า "เราตั้งใจที่จะทำให้งานศรีราชา กรังปรีซ์ เป็นสนามประลองความเร็วในระยะฮาล์ฟมาราธอนของนักวิ่งทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นักวิ่งขาแรงต่างมาพิสูจน์ว่าตัวเองจะเป็นหนึ่งใน 100 คน ที่วิ่งระยะฮาล์ฟมาราธอนได้เร็วที่สุดในประเทศไทยหรือไม่"
งาน SRIRACHA GRAND PRIX มีไฮไลท์สำคัญของงาน ที่นักวิ่งทุกคนพูดถึงคือ การตัดตัวนักวิ่ง (Cut-off) อย่างจริงจัง โดยมีเวลาวิ่งรวมไม่เกิน 3 ชั่วโมง แบ่งเป็น 4 จุด ได้แก่ ระยะ 5 กิโลเมตร ที่เวลา 0:51 ชั่วโมง 10 กิโลเมตร ที่เวลา 1:32 ชั่วโมง15 กิโลเมตร ที่เวลา 2:12 ชั่วโมง และ 20 กิโลเมตร ที่เวลา 2:51 ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลของงานวิ่งดังๆ ของโลก ซึ่งนักวิ่งแนวหลังต่างพูดว่าสนุกสนาน และท้าทายมาก ทำให้การวิ่งหนีคัทออฟเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของแนวหลัง
ในส่วนของรางวัลพิเศษสำหรับนักวิ่งขาแรง คือรางวัลชนะเลิศ Top 50 Fastest Men สำหรับนักวิ่งชายที่เข้าเส้นชัย 50 คนแรก และ Top 50 Fastest Women สำหรับนักวิ่งหญิงที่เข้าเส้นชัย 50 คนแรก โดยนักวิ่งทุกคนได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัล คนละ 2,000 บาท รวมถ้วยรางวัลทั้งสิ้น 100 ถ้วย และเงินรางวัลรวม 200,000 บาท
นายรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า "นักวิ่งต่างชื่นชอบกับการวิ่งรอบอ่างเก็บน้ำบางพระ เพราะมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม มีความร่มรื่น การจัดงานมีมาตรฐานสูง ได้แก่ การปิดการจราจร 100% ตลอดการแข่งขัน มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน พร้อมทีมแพทย์เคลื่อนที่ และรถฉุกเฉิน จากโรงพยาบาลชั้นนำ 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี โรงพยาบาลวิภาราม แหลมฉบัง และยังมีทีมอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมด้านการช่วยชีวิตฉุกเฉิน พร้อมเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าแบบพกพาอีก 10 เครื่อง เพื่อมาคอยดูแลความปลอดภัยให้กับนักวิ่งตลอดเส้นทาง นอกจากนี้ยังมีการทำประกันอุบัติเหตุ วงเงินรักษาพยาบาล 100,000 บาท ให้กับนักวิ่งทุกคน"
"เราตั้งใจที่จะทำให้งาน ศรีราชากรังปรีซ์ เป็นสุดยอดสนามฮาล์ฟมาราธอน ที่นักวิ่งจากทั่วโลกจะต้องมาร่วมกันประลองความเร็ว ประชันฝีเท้ากันในสนามที่ท้าทายที่สุดแห่งนี้ โดยมีแผนที่จะประชาสัมพันธ์งานนี้ไปยังกลุ่มนักวิ่งต่างประเทศมากขึ้นในปีถัดไป และตั้งใจจะยกระดับการจัดงานให้เป็นงานระดับนานาชาติต่อไป" รัฐกล่าว