เสี่ยวมี่ชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย

26 Sep 2017
การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะผลักดันให้เกิดการเติบโตและโอกาสต่างๆ ให้แก่ประเทศ ผู้บริหารอาวุโสของเสี่ยวมี่ กล่าวในงานดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบงที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้
เสี่ยวมี่ชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย

เสี่ยวมี่เป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปักกิ่ง อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชั้นนำของโลก และเมื่อไม่นานมานี้ เสี่ยวมี่ได้แถลงการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยร่วมมือกับบริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะพันธมิตรด้านการจัดจำหน่าย

"เราเห็นว่ากลยุทธ์ของประเทศไทย 4.0 นั้นส่งผลดีต่อนวัตกรรม การลงทุน และโอกาสการเติบโตในอีกหลายปีข้างหน้า" นายหวัง เซียง รองประธานอาวุโส เสี่ยวมี่ กล่าวในงานดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวรวมถึงแนวนโยบายการสร้างบรรยากาศการลงทุนให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น และการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใน 75,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ

ในฐานะบริษัทที่มุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เสี่ยวมี่จึงอยู่ในสถานะที่พร้อมสนับสนุนแนวนโยบายดังกล่าว และแม้ว่าเสี่ยวมี่จะเป็นบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งได้เพียง 7 ปี แต่ได้ยื่นขอสิทธิบัตรแล้วมากกว่า 16,000 ฉบับ และได้รับสิทธิบัตรแล้ว 4,043 ฉบับ รวมถึงสิทธิบัตรในต่างประเทศ 1,887 ฉบับ ทั้งนี้ นอกจากสมาร์ทโฟนแล้ว เสี่ยวมี่ยังเป็นผู้ผลิตสมาร์ททีวี สมาร์ทเราเตอร์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคอื่นๆ ภายใต้กลยุทธ์ มี่ อีโคซิสเต็ม ปัจจุบัน เสี่ยวมี่มีอุปกรณ์เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มไอโอที (IoT) ของบริษัทแล้วมากกว่า 60 ล้านเครื่อง

"งานดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง นำเสนอนวัตกรรมในด้านต่างๆ ที่น่าสนใจมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไอโอที (IoT) เมืองอัจฉริยะ โดรน และสตาร์ทอัพที่น่าสนใจมากมาย เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นประเทศไทยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี" นายหวัง กล่าว พร้อมทั้งเสริมว่า "ปรัชญาของเสี่ยวมี่ คือนวัตกรรมสำหรับทุกคน และควรเป็นนวัตกรรมคุณภาพสูงในราคาที่เป็นเจ้าของได้"วิสัยทัศน์ของเสี่ยวมี่ที่ว่า "นวัตกรรมสำหรับทุกคน" นี้เป็นหลักปรัชญาการผลิตสินค้าและตั้งราคาของเสี่ยวมี่ โดยวิสัยทัศน์ดังกล่าวประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกคือ 'ทุกคน' ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ของเสี่ยวมี่ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ และส่วนที่สองคือ 'นวัตกรรม' ซึ่งมุ่งให้ความสำคัญกับการส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพในโลกของเทคโนโลยี และขยายไปสู่การนำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัยของเสี่ยวมี่ เช่น มี่ มิกซ์ (Mi MIX)

ผลิตภัณฑ์ของเสี่ยวมี่ ได้แก่ สมาร์ทโฟน Mi 6 และ Redmi Note 4 รวมไปถึงผลิตภัณฑ์กลุ่ม มี่ อีโคซิสเต็ม ได้แก่ เครื่องชั่งน้ำหนักอัจฉริยะ (Mi Body Composition Scale), สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า (Mi Electric Scooter) และ กล้องถ่ายรูป 360 องศา (Mi Sphere Camera) ซึ่งมีจำหน่ายแล้วทั้งทางช่องทางออฟไลน์ที่ร้านค้าปลีกชั้นนำทั่วประเทศ และช่องทางออนไลน์ผ่านความร่วมมือกับลาซาด้า ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซชั้นนำในประเทศไทย

นายหวัง ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ของเสี่ยวมี่ ที่ทำทุกอย่างให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้บริษัทสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมได้ในราคาที่ไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถทำได้ โดยรูปแบบธุรกิจของเสี่ยวมี่ที่ เรียกว่า 'triathlon' นี้ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ฮาร์ดแวร์ แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต และการค้าปลีกรูปแบบใหม่

เสี่ยวมี่ เปิดตัวอินเตอร์เฟส MIUI รุ่นแรกบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ในปี พ.ศ. 2553 และสมาร์ทโฟนเครื่องแรกในปีถัดมา เป็นการวางรากฐานด้านทั้งฮาร์ดแวร์และแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตของรูปแบบธุรกิจ ปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งล้วนจัดจำหน่ายผ่านส่วนที่สามของรูปแบบธุรกิจ คือโมเดลการค้าปลีกรูปแบบใหม่

โมเดลการค้าปลีกรูปแบบใหม่ของเสียวมี่ เป็นการบูรณาการสิ่งที่ได้เรียนรู้จากช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มาใช้ในการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออฟไลน์ ร้านค้าปลีกที่บริหารจัดการโดยเสี่ยวมี่ ที่ชื่อ มี่โฮม (Mi Homes) มีประสิทธิภาพโดดเด่นเทียบเท่าช่องทางออนไลน์ ปัจจุบันมีร้านมี่โฮม อยู่ 180 แห่งทั่วประเทศจีน และตั้งเป้าเปิด 200 แห่งภายในปีนี้ และ เพิ่มเป็น 1,000 แห่งภายใน 3 ปีข้างหน้า สำหรับตลาดโลก เสี่ยวมี่เปิดให้บริการมี่โฮมผ่านพันธมิตร โดยนายหวังเปิดเผยว่าเสี่ยวมี่สนใจอย่างยิ่งที่จะเปิดให้บริการร้านมี่โฮมในประเทศไทย

"หวังว่าเรื่องราวการเดินทางของเราที่เริ่มจากกลุ่มผู้ประกอบการไม่กี่คนที่มีวิสัยทัศน์เหมือนกันจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการไทยรุ่นใหม่เริ่มต้นสร้างฝันที่ยิ่งใหญ่และมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนอย่างแท้จริง" นายหวัง กล่าวทิ้งท้าย

เสี่ยวมี่ชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย เสี่ยวมี่ชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย