สำหรับการขยายมายังภูมิภาคเอเชียนั้น ต้องยอมรับว่ามาจากการที่นักกอล์ฟเกาหลีใต้ไปสร้างผลงานผงาดในทัวร์ เริ่มจากจาก ปัค เซรี จุดประกายขึ้นมาเมื่อปี 1998 นำไปสู่การก้าวขึ้นครองความยิ่งใหญ่ของนักกอล์ฟเกาหลีในแอลพีจีเอทัวร์ ตามมาด้วยนักกอล์ฟจากญี่ปุ่น จีน (ทั้งไต้หวัน และจีน) มาสู่อาเซียนที่เป็นภูมิภาคที่กอล์ฟหญิงยังพัฒนาน้อยกว่าทุกภูมิภาคในเอเชียยกเว้นตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ในภูมิภาคอาเซียนเริ่มต้นจากนักกอล์ฟชาวฟิลิปปินส์ที่โดดเด่นอย่าง เจนนิเฟอร์ โรซาเลส ที่เคยคว้าแชมป์แอลพีจีเอทัวร์ได้ถึง 2 รายการในปี 2004 และ 2005 รวมถึง หลิม เสี่ยว-อ้าย จากมาเลเซีย ซึ่งเล่นในแอลพีจีเอทัวร์ในช่วงปี 1999-2008 แม้ว่าไม่เคยได้แชมป์แต่ก็เคยทำได้ดีที่สุดอันดับ 2 ร่วมรายการ เคลล็อกส์ คีเบลอร์ คลาสสิก ในปี 2004
ปัจจุบันนักกอล์ฟฟิลิปปินส์ที่โลดแล่นอยู่ในแอลพีจีเอทัวร์มี ตอตตี อาร์ดีน่า ซึ่งเคยทำผลงานโดดเด่นในระดับสมัครมาเล่นแล้ว และก้าวสู่แอลพีจีเอทัวร์ในปี 2014 เช่นเดียวกับทาง เคลลี ตัน เป็นนักกอล์ฟจากมาเลเซียเพียงคนเดียวที่ลงล่าเงินรางวัลในทัวร์หลังเข้าร่วมเมื่อปี 2014 ซึ่งขณะนี้ลงเล่นในซีเมทรา ทัวร์ ด้วย
กอล์ฟแอลพีจีเอทัวร์ในอาเซียนเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ยังไม่มีใครเคยสัมผัสแชมป์ได้เลยตั้งแต่ เจนนิเฟอร์ โรซาเลส และมาสู่ประเทศไทย ในยุคของ โปรอุ๋ย-วิรดา โกมุทบุตร (นิราพาธพงศ์พร) ซึ่งเป็นนักกอล์ฟไทยคนแรกที่ได้สิทธิ์เล่นแอลพีจีเอทัวร์เต็มฤดูกาลในช่วงปี 2006-2008 ก่อนจะเลิกเล่น ซึ่งแม้ไม่เคยสัมผัสแชมป์แต่ก็มีส่วนในการเริ่มต้นให้มีการแข่งขันระดับแอลพีจีเอทัวร์จัดขึ้นในประเทศไทยรายการ ฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ นับตั้งแต่ปี 2006 เรื่อยมา และมีนักกอล์ฟสาวไทยก้าวเข้าไปเล่นในแอลพีจีเอทัวร์มากขึ้นจาก โปรแหวน-พรอนงค์ เพชรล้ำ มาสู่สองพี่น้อง โมรียา- เอรียา จุฑานุกาล, จูเนียร์-ธิฎาภา สุวัณณะปุระ, พีเค-พัชรจุฑา คงกระพันธ์ และ หนูมา-จันทิมา กัลยานมิตตา ตามด้วยนักกอล์ฟรุ่นใหม่อย่าง นุ๊ก-บุษบากร สุขพันธ์, สายป่าน-ปัณณรัตน์ ธนพลบุญรัศมิ์, กิ๊ฟ-เบญญาภา นิภัทร์โสภณ, ปริญญ์-ปวริศา ยกทวน, เนท-นนทยา ศรีสว่าง และ แจน-วิชาณี มีชัย
แอลพีจีเอทัวร์ในอาเซียนยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อ โปรเม-เอรียา จุฑานุกาล คว้าแชมป์แอลพีจีเอทัวร์ได้เมื่อปี 2016 รวม 5รายการ พร้อมกับแชมป์เมเจอร์หนึ่งรายการ กลายเป็นนักกอล์ฟไทยคนแรกที่ทำได้ในแอลพีจีเอทัวร์ และมาปีนี้เธอคว้าแชมป์อีกหนึ่งรายการที่แคนาดาพร้อมกับก้าวขึ้นไปครองมือหนึ่งของโลกเป็นคนแรกจากประเทศไทย และยังเป็นนักกอล์ฟอาเซียนคนแรกอีกด้วย
อาเซียนจึงถือเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง ด้วยประชากรกว่า 800 ล้านคน แม้กีฬากอล์ฟในบางประเทศโดยเฉพาะกอล์ฟหญิงอาจยังไม่ได้รับความนิยมก็ตาม แต่เชื่อว่าทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ จะเป็นอีกจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ที่กอล์ฟหญิงจะพัฒนาก้าวหน้าเป็นอาชีพ และอาจมีรายการแอลพีจีเอทัวร์เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคนี้ในอนาคต
ติดตามข่าวสารของแอลพีจีเอทัวร์ได้ที่เว็บไซต์ www.lpga.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit