ทิศทาง NPL ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับกำลังซื้อที่หายไปในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งธุรกิจ SME เป็นกลุ่มหลักที่ยอดขายลดลง โดยพบว่า SME มีความสามารถในการทำกำไรหดตัวและบางส่วนประสบปัญหาสภาพคล่อง จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในปี 2558 และ 2559 ธุรกิจ SME โดยเฉลี่ยมียอดขายหดตัวลงถึงร้อยละ 17 กำไรขั้นต้นลดลงร้อยละ 8 และใช้เวลาในการหมุนเงินสดนานขึ้นเป็น 41 วัน หรือเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าจากปีปกติ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการก่อตัวขึ้นใหม่ของ NPL (NPL Formation) ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 1.5 เท่า หรือ 320พันล้านบาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกำลังซื้อ ได้แก่ การขายส่งและขายปลีก รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น โรงสีข้าว ผู้ผลิตเหล็ก เป็นต้น ซึ่งตัวเลขการก่อตัวขึ้นใหม่นี้เทียบเท่ากับช่วงปี 2550 ก่อนที่ประเทศไทยจะเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ นอกจากนั้นแล้วสัดส่วน 2 ใน 3 ของ NPL เกิดจากบริษัทที่ไม่เคยเป็น NPL มาก่อน แตกต่างจากช่วงเศรษฐกิจขยายตัวดีซึ่งมีสัดส่วนอยู่เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
การที่ธุรกิจ SME ชะลอตัวส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือน จากโครงสร้างการจ้างงานในประเทศ พบว่าการจ้างงานในธุรกิจ SME และภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 87 ของการจ้างงานทั้งประเทศ การชะลอตัวธุรกิจย่อมทำให้ส่งผลกระทบต่อรายได้ทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างในวงกว้าง จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สัดส่วน NPL รายย่อยทยอยปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิตและสินเชื่อบ้าน รวม NPL มูลค่า 28 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในรอบ 4 ปี โดยสินเชื่อบ้านพบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2559 NPL ก่อตัวเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า มูลค่า 144 พันล้านบาท จากช่วงปี 2556-2557 ส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มที่เป็นเจ้าของธุรกิจ SME และผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งสอดคล้องกับรายได้ธุรกิจ SME ที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง มีเพียงสินเชื่อรถยนต์ที่คุณภาพสินเชื่อทยอยปรับตัวดีขึ้น จากผลของนโยบายรถยนต์คันแรกที่ครบเงื่อนไขการถือครอง 5 ปีเมื่อปลายปีก่อน
TMB Analytics คาดการณ์ว่า ในไตรมาส 3 ปี 2560 นี้ สัดส่วน NPL จะแตะจุดสูงสุดที่ร้อยละ 3 ของสินเชื่อคงค้าง คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.3 แสนล้านบาท โดยกว่าร้อยละ 80 ของNPL มาจากลูกค้า SME ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายและการเกษตรเป็นหลัก รวมไปถึงสินเชื่อรายย่อย นำโดยสินเชื่อบ้าน อย่างไรก็ดีในไตรมาส 4 นี้ NPL จะลดลงมาใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ร้อยละ 2.83 จากปัจจัยการจัดการของธนาคารพาณิชย์ซึ่งเร่งแก้ไขปัญหา NPL โดยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ขายหนี้เสียให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือตัดหนี้สูญทางบัญชี ซึ่งสะท้อนมาในอัตราการแก้ไขปัญหา NPL (NPL Resolution) ซึ่งจะมีปริมาณมากในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี เฉลี่ยกว่า 92พันล้านบาทต่อไตรมาสในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ในปี 2561 ด้วยมุมมองเศรษฐกิจที่เติบโตได้ร้อยละ 3.8 เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ที่ทำให้สินเชื่อกลับมาเติบโตด้วยคุณภาพที่ดีขึ้นอีกครั้งโดยเฉพาะในธุรกิจขนาดใหญ่ จากการที่สัญญาณการลงทุนกลับมาดีขึ้นจากภาคการส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนช่วยผลักดันให้ NPL ของธุรกิจขนาดใหญ่ลดลงได้ ในส่วนของ SME และรายย่อย ยังต้องรอจังหวะการฟื้นตัวจากการบริโภคภาคเอกชน ด้วยปัจจัยราคาสินค้าเกษตรเป็นตัวแปรสำคัญ กอปรกับ มาตรการของธปท.ที่ออกมาควบคุมการก่อหนี้ใหม่ สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยจำกัดรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งจะช่วยให้การก่อตัวของ NPL มีแนวโน้มลดลง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit