มูลนิธิสังคมสุขใจ ร่วมกับ กลุ่มมิตรผล ปั้นชุมชนสู่ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ เชื่อมอาหารปลอดภัยจากฟาร์มสู่โรงงาน

19 Sep 2017
ใช้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์ เก็บเกี่ยวความรู้ การทำงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกรเครือข่ายในจังหวัดนครปฐม และพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมกับภาคีมายาวนานถึง 7 ปี โดยการการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
มูลนิธิสังคมสุขใจ ร่วมกับ กลุ่มมิตรผล ปั้นชุมชนสู่ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ เชื่อมอาหารปลอดภัยจากฟาร์มสู่โรงงาน

วันนี้ สามพรานโมเดล ภายใต้มูลนิธิสังคมสุขใจ โดยการนำของ อรุษ นวราช ผู้บริหารสามพราน ริเวอร์ไซด์ เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ผู้ก่อตั้งสามพรานโมเดล ได้ก้าวไปสู่อีกบทบาทหนึ่งนั่นคือ ทำหน้าที่เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ตรงในการขับเคลื่อนพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าอุปทานอาหารอินทรีย์ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้กับองค์กร และหน่วยงาน ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง โดยใช้พื้นที่เครือข่ายสามพรานโมเดล เป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้ ทั้งนี้ เพื่อขยายเครือข่ายสร้างผู้นำร่วมในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารสมดุล

ล่าสุด ได้รับเกียรติจาก ฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด มอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาโครงการเชื่อมโยงผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากชุมชนสู่โรงอาหารโรงงาน (From Farm to Factory) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาส่งเสริมและเชื่อมโยงผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ให้กับเจ้าหน้าที่ ฝ่ายพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ฝ่ายธุรการโรงงาน และเกษตรกรเครือข่ายตำบลมิตรผลร่วมพัฒนา จ.ขอนแก่น และ จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 40 คน เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม เป้าหมาย เพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงอาหารปลอดภัยจากฟาร์มสู่โรงงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ หวังสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

อรุษ อธิบายกระบวนการทำงานของหลักสูตรนี้ให้ฟังว่า ก่อนที่จะมีการอบรมทางทีมเจ้าหน้าที่มูลนิธิได้ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น และ จ.กาฬสินธุ์ เก็บข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ ออกแบบโปรแกรมการอบรมให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้ และสามารถนำกลับไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งโชคดีว่า มิตรผลสร้างฐานไว้ดีมาก และมีการทำงานรูปแบบเดียวกับที่สามพรานโมเดลทำ คือ เชื่อมธุรกิจกับชุมชม และ มีทีมพัฒนาชุมชนที่ทำงานในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง ขาดเพียงแค่ความเข้าใจเรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และไม่มีเครื่องมือในการขับเคลื่อนซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก

"มิตรผลมีฐานที่ดีอยู่แล้ว สามพรานโมเดลเข้ามาทำหน้าที่เติมเต็มในเรื่องเทคนิค สร้างความเข้าใจเรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กระบวนการขับเคลื่อนต้นน้ำ โดยการใช้ระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Organic Guarantee System : PGS) เป็นเครื่องมือ แต่ก็ยังเน้นการเรียนรู้แบบครบวงจร ทั้ง การวางแผนการผลิต ปัจจัยการผลิต แปรรูป การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และช่องทางการตลาด ซึ่งเหล่านี้เป็นความรู้ที่สามารถนำกลับไปปรับใช้ได้ทันทีหลังจบการอบรม" อรุษ กล่าว

ด้าน คมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานองค์กรสัมพันธ์ และบริหารองค์กร เพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า บริษัท ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนที่อยู่รอบโรงงานให้เกิดความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง และอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่แค่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยอย่างเดียว แต่สอนให้เขาปลูกอยู่ปลูกกิน มีเหลือส่งขายให้กับโรงงาน แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะฝ่ายโรงงานและเกษตรกรเองยังไม่เข้าใจระบบเกษตรอินทรีย์ดีพอ จนได้เจอกับ คุณอรุษ ได้รู้จักสามพรานโมเดล ช่วยให้ทุกฝ่ายเข้าใจและเชื่อมั่นในวิถีเกษตรอินทรีย์ และเข้าถึงหัวใจสำคัญของการพึ่งพาตนเองได้อย่างชัดเจน การอบรม ครั้งนี้ หวังให้ทั้งฝ่ายโรงงานและชุมชนได้เก็บเกี่ยวความรู้ เพื่อนำกลับไปวางแผน สร้างข้อตกร่วมกันบนพื้นฐานการค้าที่เป็นธรรม เดินหน้าพัฒนาชุมชนของเราให้เข้มแข็งสามารถพึ่งตัวเองและอยู่ได้อย่างยั่งยืน

หนึ่งเสียงที่สะท้อนความรู้สึกของเกษตรกรที่เข้าร่วมอบรม จาก นพดล จันทร์ดี ประธานกลุ่มปลูกผัก กม.52 กุดกว้าง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น บอกว่า สำหรับผมการอบรมครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่ามาก ได้ความรู้ต่างๆ มากมาย ทำให้เราเข้าใจหลักการทำเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS การเชื่อมโยงตลาด ที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องยากเพราะเราศึกษาจากคู่มือเล่มหนาๆ แต่โปรแกรมนี้ย่อคู่มือเล่มนั้นให้สั้นลงทำให้เราเข้าใจ และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น 3 วันที่ได้ศึกษาดูงาน ยังได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ รวมถึงได้แลกเปลี่ยนความคิดกับเกษตรกรต้นแบบของสามพรานโมเดล ทำให้เรามองเห็นโอกาส และมีกำลังใจในการผลักดันให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเคมีสู่อินทรีย์ เราได้เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนกลุ่ม คือ ระบบ PGS กลับไปสามารถเริ่มทำงานได้ทันที ถือเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ให้เราได้รู้จักการเกษตรอินทรีย์ เพื่อนำทางไปสู่การพึ่งตนเองและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สำหรับ หลักสูตรนี้ใช้เวลาอบรม 3 วัน เน้นให้ผู้เข้าร่วมอบรมเข้าใจเรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการขับเคลื่อนต้นน้ำ ฟังบรรยาย ควบคู่กับการศึกษาดูงานในพื้นที่ต้นแบบเพื่อให้เห็นภาพได้ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างเช่น ดูการขับเคลื่อนของ กลุ่มเกษตรอินทรีย์บางช้างที่ผลิตผลไม้เป็นหลัก และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ ผลผลิตผักเป็นหลัก ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม มีผู้นำที่เข้มแข็ง และใช้ระบบ PGS ในการขับเคลื่อน พัฒนาจนได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล IFOAM อีกทั้งยังได้ศึกษากระบวนการขับเคลื่อนกลางน้ำ การแปรรูปผลไม้อินทรีย์และเห็ดอินทรีย์ ของ Happylife Farm (วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารตำบลสระพัฒนา)

พร้อมทั้ง ได้เรียนรู้เรื่องปัจจัยการผลิตการ ดูระบบการจัดการแปลงปลูกพืชผสมผสาน ที่ สุขใจออร์ แกนิกฟาร์ม สวนเกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากล IFOAM EU และ CANADA ของโรงแรม รวมถึงเยี่ยมชมตลาดสุขใจ หนึ่งช่องทางการตลาดสำคัญของเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการขับเคลื่อนของมิตรผล เป็นไปในลักษณะเดียวกับที่สามพรานโมเดลทำ คือ การเชื่อมธุรกิจกับชุมชน ในหลักสูตรนี้ จึงได้จัดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ ทั้งพ่อครัว ฝ่ายจัดซื้อ แผนกสวน และ ทีม Food waste ที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล ได้มาแชร์ประสบการณ์การในมิติการทำงานร่วมกับชุมชน ให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงงาน เพื่อเป็นแนวทางนำไปปรับใช้ในการทำงานกับเกษตรกรในพื้นที่

หลังจากการเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ การทำเกษตรอินทรีย์ ระบบ PSG ในพื้นที่ต้นแบบ ของโครงการสามพรานโมเดล นำมาสู่การ ระดมสมอง วางแผนงาน เพื่อสร้างข้อตกลงบนพื้นฐานการค้าที่เป็นธรรม และร่วมกำหนดข้อตกลงในการทำงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของแต่ละกลุ่ม ผ่านการนำระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมภายใต้ชื่อ "Penmitr Organics PGS" ไปประยุกต์ใช้พัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยงอาหารอินทรีย์จากเกษตรกรสู่พนักงานในโรงงาน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

ไม่เฉพาะสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนกินและคนปลูกเพียงเท่านั้น แต่เกษตรอินทรีย์ยังช่วยสร้างระบบอาหารให้สมดุล และเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาได้ทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ อีกทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้พึ่งตนเองได้ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน ดั่งเช่นบทพิสูจน์ที่เกิดขึ้น กับเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล

สำหรับองค์กร หรือ หน่วยงาน ที่สนใจ เปิดโลกเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากทีมกระบวนกรสามพรานโมเดล สามารถขอข้อมูลได้ที่ ศูนย์พัฒนาเกษตรอินทรีย์สุขใจ มูลนิธิสังคมสุขใจ อ.สามพราน จ.นครปฐม โทร 034 322 544 หรือที่ Facebook/สามพรานโมเดล

HTML::image( HTML::image( HTML::image(