นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดใหญ่ ปตท.. กล่าวว่า การอบรม "หลักสูตรพลังงานเพื่อชุมชน (Community Energy Management Program: CEMP)" ครั้งนี้ เป็นการจัดอบรมต่อเนื่องรุ่นที่ 4 และเป็นส่วนหนึ่งใน "โครงการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง" ของ ปตท. ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างรากฐานที่เข้มแข็งจากพลังงานระดับชุมชนเพื่อการพัฒนาประเทศ จึงมีเป้าหมายสร้าง "ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการพลังงานชุมชน" ภายใต้หลักวิถีพอเพียงเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระดับชุมชน
"หลักสูตรพลังงานเพื่อชุมชน ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องการบริหารจัดการพลังงานระดับชุมชน เพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ตลอดจนเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลอดระยะเวลาของการอบรม ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรพลังงานเพื่อชุมชน มีโอกาสศึกษาภาคทฤษฏี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิเคราะห์และวางแผนพลังงานสำหรับชุมชน เสริมความรู้เรื่องพลังงานทดแทน อีกทั้งได้ประยุกต์ความรู้ทั้งหมด มาพัฒนาเป็นโครงงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระดับชุมชน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศต่อไป" นายเทวินทร์กล่าว
หลักสูตรพลังงานเพื่อชุมชนสามารถสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมจากความต้องการของชุมชนเองผ่านกระบวนการสนับสนุนองค์ความรู้จาก ปตท. อาทิ 1. โครงงาน "ขยะยิ้มได้" ของชุมชนหมู่บ้านคีรีวง นครศรีธรรมราช โดยนำขยะมาใช้ประโยชน์ตามชนิดประเภท และเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ เช่น นำเศษอาหาร ผลิตเป็นก๊าซชีวภาพใช้หุงต้มในบ้านพักโฮมสเตย์ และนำผลผลิตจากถ่าน มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น สบู่ ปุ๋ย และถ่านไบโอชาร์ 2. โครงงาน "โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับเตาเผาชีวมวล" ของชุมชนกลุ่มลานกระบือ เพื่อใช้สำหรับอบใบหญ้าแฝกแห้งให้มีคุณภาพได้ตลอดทั้งปี และนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมคุณภาพช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชน 3. หลากหลายโครงงานพลังงานแสงอาทิตย์ และ โครงงานอื่นๆ
ทั้งนี้การอบรมหลักสูตรพลังงานเพื่อชุมชน รุ่นที่ 4 ปี 2560 จัดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนกันยายน มีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 54 คน ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน ผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญในงานพัฒนาพลังงาน นักวิชาการ/ นักพัฒนาอิสระ ข้าราชการและพนักงานองค์กรภาครัฐ เยาวชน และสื่อมวลชน มีลักษณะการอบรมที่มุ่งเน้น "การสร้างองค์ความรู้" และ "การมีส่วนร่วม" เป็นสำคัญ โดยได้รับความร่วมมือทางวิชาการและบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงพลังงาน มูลนิธิชัยพัฒนา สมาคมพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ องค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะนาว จ.ลพบุรี และสถาบันการศึกษาต่างๆ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit