ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมประจำปีของรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านการเกษตรและป่าไม้ของประเทศอาเซียน ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งจะหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ การประชุมนี้เป็นกลไกในการติดตามผลการดำเนินงาน กำหนดนโยบาย กำหนดแนวทางการดำเนินโครงการ ให้ความเห็นชอบมาตรฐาน และแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรต่าง ๆ ในสาขาเกษตรและป่าไม้ เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนนำไปปรับใช้ภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยและเพียงพอ มีความเป็นเอกภาพ ทั้งด้านการผลิตและการค้า และปรับตัวได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย 1) ระดับรัฐมนตรีด้านการเกษตรจากอาเซียน 10 ประเทศ และจากประเทศบวกสาม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ 2) ระดับปลัดกระทรวงและเจ้าหน้าที่อาวุโส ของทั้ง 13 ประเทศ ซึ่งจะมีการประชุมเตรียมการระหว่างวันที่ 25 – 27 ก.ย. 60 3.สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และ คณะทำงานอาเซียน 4. องค์กรระหว่างประเทศ เช่น FAO / IRRI รวมประมาณ 400 คน
พลเอกฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ประเด็นหารือที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ ในด้านการเกษตร เช่น 1.การพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่จะดำเนินการในปี 2561 อาทิ การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร ได้แก่ มาตรฐานพืชสวนและพืชอาหารของอาเซียน มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ค่าปริมาณสารพิษตกค้าง มาตรฐานปศุสัตว์ และมาตรฐานฮาลาล เป็นต้น 2.การพิจารณาให้ข้อเสนอแนะและให้ความเห็นชอบต่อยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียน + 3 ด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ 3.การพิจารณาแผนงานขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม หรือ APTERR ระยะต่อไป ได้แก่ การผลักดันให้ประเทศสมาชิกร่วมดำเนินงานโดยการทำสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้า และแผนบริหารการเงินของสำนักเลขานุการฯ ระยะ 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2561 – 2565 4.การผลักดันและติดตามการดำเนินการตามนโยบายประมงร่วมประชาคมอาเซียน โดยฝ่ายไทยจะผลักดันและนำเสนอให้มีการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่วนในด้านป่าไม้ อาทิ การหารือแนวทางระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมืออาเซียนด้านการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน เป็นต้น
นอกจากการหารือในเวที AMAF และ AMAF+ 3 แล้ว ยังมีการหารือระดับทวิภาคกับประเทศสมาชิก เช่น จีน ญี่ปุ่น และ กัมพูชา เพื่อหารือในประเด็นสำคัญ อาทิ 1) การขยายมูลค่าการค้า และแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรระหว่างกัน 2) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรและอาหารระหว่างรัฐ-เอกชน และ เอกชน-เอกชน 3) สร้างความร่วมมือด้านประมง IUU จัดแสดงนิทรรศการ แบ่งเป็น 4 โซนหลัก คือ 1.นิทรรศการ"เกษตรยั่งยืนแห่งภูมิภาคอาเซียน" ในรูปแบบการจัดนิทรรศการมีชีวิต 2.โซนนิทรรศการเทิดพระเกียรติ "ศาสตร์พระราชา" เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยะภาพของ ร.9 และ ร.10 ในการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทย ประกอบด้วย เช่น การบริหารจัดการน้ำ ฝนหลวง และการพัฒนาดิน 3.โซนนิทรรศการ 50 ปีอาเซียน โดยนำเสนอถึงพัฒนาการของอาเซียน และผลสำเร็จจากความร่วมมือของประเทศอาเซียน และ 4.โซนนิทรรศการและผลงานด้านการเกษตรของไทย เช่น การแก้ไขปัญหาการทำประมงอย่างยืนของไทย รวมถึงการจัดกิจกรรมการนำคณะศึกษาดูงาน ณ ศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วันที่ 30 ก.ย. 60เพื่อเผยแพร่โครงการในพระราชดำริของพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชในการแก้ปัญหา และพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย
"การประชุมครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลให้ไทยสามารถผลักดันนโยบายที่สำคัญของประเทศเข้าสู่การประชุมอาเซียน ได้แก่ นโยบายประมงร่วมประชาคมอาเซียน และการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชของไทย พร้อมทั้งยังได้แสดงศักยภาพและบทบาทการเป็นผู้นำด้านการเกษตรของไทยให้ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมรับทราบและให้การยอมรับ และช่วยเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ด้านเกษตรและป่าไม้กับประเทศอาเซียน และประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้อีกด้วย" พลเอกฉัตรชัย กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit