“ทุ่งคา” เปิดตัวธุรกิจใหม่ ลงทุนพลังงานทดแทน

29 Sep 2017
ทุ่งคาฮาเบอร์ ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เปิดตัวธุรกิจพลังงานทดแทน นอกเหนือจากธุรกิจเหมืองแร่ และอสังหาริมทรัพย์ พร้อมเปิดตัว 3 โครงการ เพื่อลงทุนในโครงการโซลาร์ สหกรณ์ และโครงการโรงไฟฟ้าขยะ เน้นสร้างความเติบโต และมีรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยวางแผนลงทุนด้านพลังงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ตั้งเป้าลงทุนภายใน 5 ปี ให้มีกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์
“ทุ่งคา” เปิดตัวธุรกิจใหม่ ลงทุนพลังงานทดแทน

นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ทำการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทฯ ใหม่ โดยเปิดตัวธุรกิจพลังงานทดแทน เพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เนื่องจากเห็นว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย และในประเทศอาเซียนจะเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจนี้จะมีการเติบโตมากขึ้น ประกอบกับกระแสของโลกที่กำลังตื่นตัวกับพลังงานทดแทนเพื่อลดผลภาวะโลกร้อน และที่สำคัญ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่มีรายได้ที่แน่นอนในระยะยาว สามารถลดความเสี่ยงรวมทั้งเป็นการสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ ในอนาคตได้อย่างมั่นคง

โดยเบื้องต้นจะมีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ ฟาร์ม) จำนวน 2 โครงการ และโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน อีก 1 โครงการ ประกอบด้วย โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ ฟาร์ม) ร่วมกับสหกรณ์พูนสุข จังหวัดชุมพร ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดชุมพร กำลังการผลิตติดตั้ง 5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 50 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 225 ล้านบาท โดยคาดว่าโครงการจะเริ่มก่อสร้างในต้นปี พ.ศ. 2561 และคาดว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จ ผลิตไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ปี พ.ศ. 2561

โครงการที่สอง คือ โครงการโซลาร์ ฟาร์ม ของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านตากแดด จำกัด จังหวัดพังงา ตั้งอยู่ที่จังหวัดพังงา กำลังการผลิตติดตั้ง 5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 50 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 225 ล้านบาท โดยคาดว่าโครงการจะเริ่มก่อสร้างในต้นปี พ.ศ. 2561 และคาดว่าจะ COD ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ปี พ.ศ. 2561

ส่วนโครงการที่สาม คือ โครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากชุมชน กำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ เงินลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาท ซึ่งผลสำรวจข้อมูลปริมาณขยะในพื้นที่จำนวน 580 ตันต่อวัน ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ผ่านขั้นตอนการอนุมัติจากรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และรอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศรับซื้อ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยคาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2561 และและคาดว่าจะ COD ได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2562

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดแผนการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนภายใน 5 ปีนี้ ตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน ประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาหลายโครงการ ทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ ซึ่งจะเน้นการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV หรือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เป็นหลัก ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการโซลาร์ ฟาร์ม ที่ประเทศเวียดนาม จำนวน 2 โครงการ ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 60 เมกะวัตต์ และยังศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในต่างประเทศด้วย

"ด้วยความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนให้เป็นไปตามเป้าหมาย บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจจาก เยอรมันนี และจีน เพื่อสนับสนุนเงินทุนและศึกษาเทคโนโลยีในธุรกิจนี้มากขึ้น ทำให้จะได้เห็นช่องทางการลงทุนมากขึ้นในอนาคต" นายวิจิตร กล่าวเพิ่มเติม

ดังนั้น ปัจจุบัน บริษัทฯ จะมี 3 ธุรกิจหลักที่สำคัญ ประกอบด้วย ธุรกิจเหมืองแร่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ของบริษัทฯ ในอนาคต ยังมาจากธุรกิจเหมืองแร่มากที่สุด เพราะเป็นธุรกิจหลัก แต่ธุรกิจพลังงานทดแทนจะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

HTML::image( HTML::image( HTML::image(