สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(10ต.ค.60) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 59,478 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 79 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มากกว่าปี 2559 รวม 10,108 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 35,659 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 69(ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 25,272 ล้าน ลบ.ม.)สามารถรองรับน้ำได้อีก 15,740 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 18,497 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ74ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 3,052 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 11,801 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 8,749 ล้าน ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 6,394 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมน้ำสูงสุด จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม กิ่วคอหมา แควน้อยบำรุงแดน ห้วยหลวง น้ำอูน น้ำพุง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ บางพระ ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา และกระเสียว ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ระหว่าง 80% - 100% จำนวน 168แห่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่า 100% จำนวน 167แห่ง
สำหรับสภาพน้ำที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำอ.เมืองจ.นครสวรรค์ (C.2) อัตรา 2,528ลบ.ม./วินาทีต่ำกว่าตลิ่ง 1.97เมตรโดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,188ลบ.ม./วินาทีมีพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ที่ได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ได้แก่ บริเวณคลองโผงเผง คลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณ อ.บางบาล อ.เสนา และ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยา +16.80ม.รทก. รับน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกในปริมาณ 475 ลบ.ม./วินาที ระบายน้ำท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 346ลบ.ม./วินาทีมาผ่านเขื่อนพระรามหก 501ลบ.ม./วินาที น้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำบางไทร 2,328ลบ.ม./วินาที โดยใช้ปตร.คลองลัดโพธิ์จ.สมุทรปราการช่วยระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่ผ่าน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ น้อยกว่าปี 2554 มาก โดยเมื่อปี 2554 สูงสุด 4,686 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีคันกั้นน้ำที่สูงมาก สามารถป้องกันน้ำที่เอ่อล้นตลิ่งได้ จะท่วมเฉพาะพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ คือ พื้นที่ระหว่างแม่น้ำกับคันกั้นน้ำ ส่วนพื้นที่ในคันกั้นน้ำไม่ท่วม ดังนั้น ยืนยันว่าน้ำจำนวนนี้จะไม่มีผลกระทบกับ กทม.และปริมณฑล ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวเพิ่มเติมถึงการคาดการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกกระจายในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางมากกว่าที่คาดการณ์ไว้มากส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยาสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรได้คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 9 - 15 ต.ค. 60 ประเทศไทยจะยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ซึ่งกรมชลประทานได้ประเมินปริมาณน้ำจากการคาดการณ์ดังกล่าวพบว่าจะมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอเมืองจังหวัดนครสวรรค์ไหลมารวมกับน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังลงมายังเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราสูงสุดประมาณ 3,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในวันที่ 15 ต.ค. 60
ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำโดยใช้พื้นที่ว่างบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาชะลอน้ำไว้รวมทั้งรับน้ำส่วนหนึ่งเข้าไปเก็บไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งสองฝั่งแต่เนื่องจากพื้นที่ชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีฝนตกเต็มพื้นที่เช่นกันส่งผลให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่ระบบชลประทานทั้งสองฝั่งด้วยทำให้สามารถรับน้ำเข้าไปได้เพียง 474ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจากปริมาณน้ำสูงสุดที่รับได้ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจากเดิม 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจะค่อยๆทยอยเพิ่มการระบายตามปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจนถึงอัตรา 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในวันที่ 12 ต.ค. 60 และจะคงการระบายน้ำในอัตรา 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีต่อเนื่องไปประมาณ 1 สัปดาห์หากปริมาณฝนตกลดน้อยลงจะเริ่มลดปริมาณการระบายลงตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.80 – 1.20 เมตรแต่ยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำประมาณ 0.50 -2.0 เมตร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยากรมชลประทานได้ควบคุมการปิด – เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดสมุทรปราการตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเลเพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้รวดเร็วยิ่งขึ้นจึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ลุ่มน้ำป่าสักที่คาดว่าปริมาณฝนที่ตกหนักช่วงนี้จะส่งผลให้น้ำท่าไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างต่อเนื่องตามไปด้วยปัจจุบัน(10ต.ค. 60) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 878ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็นร้อยละ 91ของความจุที่ระดับเก็บกัก คงเหลือพื้นที่รองรับน้ำได้อีกเพียง 82ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น เพื่อให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำอย่างเหมาะสม กรมชลประทานมีความจำเป็นที่ต้องระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มขึ้นจากเดิมวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็นวันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเมื่อน้ำจำนวนนี้ไหลลงไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสักแล้วจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกให้อยู่ในเกณฑ์ 550 - 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหกอำเภอท่าเรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาอำเภอพระนครศรีอยุธยาจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร ซึ่งกรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์น้ำไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสักให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดหากมีความจำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มอีกเนื่องมาจากมีฝนตกลงมาเพิ่มกรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะๆต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit