ขุขันธ์ก้าวหน้า ชาวประชาร่วมใจ.. มุ่งปรับเปลี่ยนค่านิยม ลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมและพลังชุมชน

06 Oct 2017
ขุขันธ์ก้าวหน้า ชาวประชาร่วมใจ.. มุ่งปรับเปลี่ยนค่านิยม ลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมและพลังชุมชนสู่การช่วยเลิก พร้อมเดินหน้ายกระดับงานบุญประเพณีต่างๆทั้ง 22 ตำบลใน อ.ขุขันธ์ให้เป็นงานปลอดเหล้า หลังข้อมูลปี 2555 ชี้ "งานศพปลอดเหล้า"ช่วยชาวขุขันธ์ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 20 ล้านบาท
ขุขันธ์ก้าวหน้า ชาวประชาร่วมใจ.. มุ่งปรับเปลี่ยนค่านิยม ลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมและพลังชุมชน

วันที่ 6 ตุลาคม 2560 ณ ศาลาประชาคม รพ.สต.โคกเพชร นายสำรวย เกษกุล นายอำเภอขุขันธ์กล่าวว่า "ขุขันธ์"เป็นอำเภอขนาดใหญ่ประกอบด้วย 22 ตำบล สถานการณ์การดื่มเหล้าของอำเภอขุขันธ์ไม่ต่างไปจากชุมชนในภูมิภาคอื่นๆ ที่มีเรื่องเหล้าอยู่ในวิถีชีวิต และเป็นหัวใจสำคัญของพิธีกรรม วัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ จากข้อมูลสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษปี 2555 พบว่าขุขันธ์เป็นอำเภอที่ดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นอันดับ 1 ของจังหวัด ผลกระทบจากปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับของวัยรุ่นร้อยละ 60 ปัญหาอาชญากรรมร้อยละ 50 เกิดคนป่วยจากการดื่มเหล้า ติดเหล้าแล้วมารักษาที่โรงพยาบาล เป็นภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้เป็นโรคมะเร็งสาเหตุการตายอันดับ 1 ของอำเภอ จากปัญหาดังกล่าวภาคประชาสังคมและกลไกราชการ ซึ่งมองเรื่องประเด็นเหล้าในมิติสุขภาวะ ได้ดำเนินการเพื่อให้ชาวขุขันธ์สามารถลดละเลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงาน "ขุขันธ์ก้าวหน้า ชาวประชาร่วมใจ" โดยขับเคลื่อนผ่านวงคุยสภาวัฒนธรรม วงคุยขบวนเครือข่ายสุขภาวะ ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม มี รพ.สต. ที่มีความแข็งขันเอาจริงเอาจังในการทำงาน และการรณรงค์ไปพร้อมๆกัน ผ่านกลไก อสม.ที่มีอยู่ทุกหมู่บ้าน และการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ อาทิป้ายรณรงค์ สปอตวิทยุ ฯลฯ ขุขันธ์จึงสามารถขับเคลื่อนร่วมกันทั้งอำเภอ จำนวน 22 ตำบล เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังชุมชนสู่การช่วยเลิกผู้ติดสุรา ซึ่งพบว่าหัวใจของความสำเร็จคือการลงมือทำ การมีผู้นำที่เข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมของผู้คนที่เป็นเจ้าของปัญหาร่วมกันทำให้คนขุขันธ์มีความอยู่ดีมีสุข

ด้านเภสัชกรเด่นชัย ดอกพอง เภสัชกรรมชุมชน โรงพยาบาลขุขันธ์ กล่าวว่ากระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังชุมชนสู่การช่วยเลิกผู้ติดสุรา มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยสนับสนุนให้ชาวขุขันธ์สามารถ ลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้สำเร็จ ซึ่งงานศพปลอดเหล้าได้นับเป็นหนึ่งในกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมสู่การช่วยเลิกผู้ติดสุรา หลังจากที่มีการทำประชาคม "ชาวขุขันธ์ เกิดความตื่นตัวอย่างมากลุกขึ้นมาจัดงานศพปลอดเหล้า จนเกิดมติข้อตกลงและ MOU กลายเป็นพลังชุมชนที่ถือปฏิบัติร่วมกันในปี 2553 สามารถลดค่าใช้จ่ายค่าเหล้าได้ประมาณ 30,000 บาทต่องาน ส่งผลให้เกิดการขยายผลเป็นเครือข่ายอำเภอ โดยมีพระครูพิศิษย์ธรรมานุศาสก์ เจ้าคณะอำเภอขุขันธ์ ร่วมเป็นเครือข่ายประชาสังคมขุขันธ์ ทำงานร่วมกันบนฐานการมีส่วนร่วมและความเชื่อว่า "สังคมที่ดีสามารถออกแบบ และสร้างขึ้นได้" ทำให้เกิดงานศพปลอดเหล้าในทุกหมู่บ้าน อย่างเข้มข้นในระยะเวลา 2 ปี และจากการสำรวจข้อมูลงานศพปลอดเหล้าอำเภอขุขันธ์พบว่าปี 2555 ชาวขุขันธ์สามารถประหยัดค่าเหล้าในงานศพได้มากกว่า 20 ล้านบาท

"นอกจากนี้ยังมี "โรงเรียนศีลห้า" และ "หมู่บ้านศีลห้า" การดำเนินการซึ่งเป็นส่วนหนุนเสริมขบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของอำเภอสู่การช่วยเลิกผู้ติดสุรา โดยมีกลุ่มของเด็กเยาวชนในนาม "ชมรมจิตอาสาลูกขุขันธ์ร่วมใจ" มีนวัตกรรมสำคัญคือ "กลุ่มลูกแกะขั้นเทพ" ซึ่งหมายถึงเด็กเยาวชนรู้ไม่เท่าทันและมีพฤติกรรมเสี่ยงในการสูบบุหรี่-ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระบวนการเน้นให้ลูกแกะค้นหาเป้าหมายสำคัญของชีวิต แล้วชวนให้ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุขอื่นๆ" เภสัชกรกล่าว

นายขวัญชัย ไชยโพธิ์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งที่นับว่าเป็นกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมสู่การช่วยเลิกผู้ติดสุราก็คือ "งานแซนโฎนตา"ประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ที่ถือว่าเป็นประเพณีสำคัญของชาวอำเภอขุขันธ์ ที่มีการใช้สุราเป็นหนึ่งในเครื่องเซ่นไหว้ จากความเชื่อที่ว่าสุราเป็นน้ำบริสุทธิ์ที่สามารถเชื่อมโยงกับดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้ หลังจากเซ่นไหว้จะมีการตั้งวงดื่มกินกันจนเมามาย ส่งผลให้เกิดปัญหาการทะเลาะวิวาทและอุบัติเหตุตามมา จึงเกิดการขับเคลื่อนรณรงค์ให้ลด ละ เลิก การใช้สุราในขบวนแห่แซนโฎนตา โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนขบวนแห่ที่ไม่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ในระดับอำเภอ ซึ่งต่อมาได้มีการยกระดับและรณรงค์ให้ชุมชนหันมาใช้ น้ำบริสุทธิ์ น้ำมะพร้าว และน้ำผลไม้ แทนการใช้สุราในพิธีกรรมเซ่นไหว้ที่จัดในครัวเรือน ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลงานแซนโฎนตาอำเภอขุขันธ์ปี 2558 พบว่าผลที่ได้จากการดำเนินการดังกล่าว สามารถประหยัดค่าเหล้าในช่วงเทศกาล ได้ถึงปีละ 15 ล้านบาท

นางเพ็ญทิวา สารบุตร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.โคกเพชรกล่าวว่าอีกหนึ่งของขบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังชุมชนสู่การช่วยเลิกผู้ติดสุรา คือการเปิดให้บริการ"คลินิกบำบัดบุหรี่และสุรา ตำบลโคกเพชร" เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง ให้สามารถ ลด ละ เลิก การใช้บุหรี่และสุราลงให้ได้ โดยในปี 2557ที่ผ่านมา ชุมชนตำบลโคกเพชรมีการประกาศปณิธานความดีและเปิด"คลินิกอดบุหรี่อดสุรา 6 เดือน เพื่อรับรางวัลคนต้นแบบเลิกเหล้า เลิกบุหรี่เป็นคนดีเพื่อพ่อหลวงและสังคม" มี อสม.เสริมพลังและกำลังใจจากแกนนำจิตอาสาพาคนเลิกเหล้าเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน ส่งผลให้เกิดคนตำบลโคกเพชรได้รับการยกย่องให้เป็นคนต้นแบบเลิกเหล้า ซึ่งมีทั้ง "คนหัวใจหิน" ที่สามารถงดเหล้าครบ 3 เดือนจำนวน 89 คน มี"คนหัวใจเพชร" ที่เลิกเหล้าต่อเนื่อง 3 ปีและประกาศเลิกเหล้าตลอดชีวิต จำนวน 15 คน ในปี 2560 นี้ยังมีการตรวจเลือดของผู้ที่สมัครใจเลิกเหล้าช่วงเทศกาลเข้าพรรษาจำนวน 60 คน เพื่อเปรียบเทียบหาค่าการทำงานของตับช่วงก่อนและหลังการเลิกเหล้า โดยมี อสม.เสริมพลัง มีกระบวนการเชียร์ ชม และให้กำลังใจอย่างต่อเนื่องจนครบพรรษา

"ผลจากการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังชุมชนสู่การช่วยเลิกผู้ติดสุราของอำเภอขุขันธ์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านม(ปี 2557-2560) สามารถลดจำนวนผู้ดื่มสุราได้ถึงร้อยละ 5 และในปี 2560 มีคนบวชใจงดเหล้าเข้าพรรษาจำนวน 8,938 คน จาก 22 ตำบล และมีการยกระดับงานบุญประเพณีต่างๆให้เป็นงานปลอดเหล้าได้แก่ งานศพปลอดเหล้า งานกฐินปลอดเหล้า งานบวชปลอดเหล้าและงานบุญอัฐิปลอดเหล้า เน้นสร้างการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของผ่านการประชาคมทั้ง 22 ตำบล ซึ่งทุกตำบลมีการทำ MOU ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการ"ขุขันธ์ก้าวหน้า ชาวประชาร่วมใจ" นางเพ็ญทิวากล่าว.