CAT และ วิศวะ จุฬาฯ เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมเมกะเทรนด์ ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคาร

02 Oct 2017
-พร้อมบูรณาการทำงานร่วมกับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์-
CAT และ วิศวะ จุฬาฯ เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมเมกะเทรนด์ ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคาร

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ต่อยอดนวัตกรรมเมกะเทรนด์ ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ ตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคาร นำร่องติดตั้งภายในห้องสมุดและห้องเรียน โดยทำงานบูรณาการร่วมกับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์สู่ระบบ Cloud พร้อมพัฒนาแอปพลิเคชัน สำหรับแสดงผลและแจ้งเตือนค่าคุณภาพอากาศที่ตรวจวัดได้ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง

รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ล่าสุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ต่อยอดงานด้านนวัตกรรม 1 ใน 5 Megatrends (กระแสหลักของการเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคต) ได้แก่ ระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่ได้ติดตั้งเครือข่ายเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดหมอกฝุ่นควัน (haze) ในพื้นที่ จ.น่าน และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถประเมินผลได้แบบทันทีทันใด (Real Time) ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้สามารถประเมินผลกระทบจากหมอกฝุ่นควันได้แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนกำหนดนโยบายการป้องกันปัญหาได้ดีมากกว่าที่ผ่านมา ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาต่อยอด ประยุกต์เป็นระบบเซ็นเซอร์อย่างง่ายเพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศในอาคาร (system of indoor air quality sensor)

ทั้งนี้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้ทำการบันทึกข้อตกลงความมือกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (IoT City Innovation Center) เพื่อพัฒนาระบบนิเวศน์นวัตกรรมบนพื้นฐานเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ในการนำเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้สำหรับส่งข้อมูลจากการตรวจวัดคุณภาพทางอากาศได้แบบเรียลไทม์ และสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป

"สำหรับการนำร่องการติดตั้งเครื่องเซ็นเซอร์ดังกล่าว จะนำไปติดตั้งในสถานที่ที่มีอาจารย์ บุคลากร และนิสิตใช้งานจำนวนมาก อาทิ ห้องสมุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อาคารเรียน โดยการติดตั้งดังกล่าวจะนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์คุณภาพทางอากาศ และปรับแก้ เพื่อให้นิสิต บุคลากร และคณาจารย์ ได้รับอากาศที่สะอาด นอกจากนี้ยังเป็นแบบอย่างให้สถานที่อื่นๆ ใช้เป็นต้นแบบ เพื่อการพัฒนาคุณภาพอากาศในอาคารที่ใช้ทำกิจกรรม หรือเรียนต่อไปในอนาคตด้วย" รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล กล่าวเพิ่มเติม

ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับระบบเซ็นเซอร์ เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศในอาคาร รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ได้ดำเนินการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ ในบริเวณห้องสมุด ห้องประชุม และห้องเรียน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีบุคคลที่เข้ามาใช้งานคั่บคั่ง ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาวะสบายของผู้ใช้งาน ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำการตรวจสอบ ประกอบด้วย อุณหภูมิ ความชื้น ฝุ่นละออง และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อใช้ในการวางแผนและบริหารจัดการ ด้านคุณภาพอากาศภายในอาคาร ซึ่งข้อมูลที่ได้นั้นจะใช้ในการเฝ้าระวัง ตลอดจนการจัดการสภาพแวดล้อมภายในอาคาร ทั้งด้านสุขภาพของผู้ที่ใช้งานในพื้นที่ รวมถึงการควบคุมการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม สำหรับการตรวจวัดและเฝ้าระวังสภาวะของคุณภาพอากาศภายในอาคาร สามารถใช้ประโยชน์จากชุดเซ็นเซอร์ตรวจวัดอากาศขนาดเล็ก บูรณาการร่วมกับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์สู่ระบบ Cloud และการพัฒนาแอปพลิเคชัน สำหรับแสดงผลและแจ้งเตือนค่าคุณภาพอากาศที่ตรวจวัดได้ ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ใช้พื้นที่ได้รับทราบ เพื่อวางแผนและปรับปรุงระบบในพื้นที่ต่อไป นอกจากนี้ยังช่วยให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพและการเรียนการสอนอีกด้วย

ดร.ณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย บมจ. กสท โทรคมนาคม(CAT) กล่าวว่า CAT ได้รับใบอนุญาตการทดลองใช้ความถี่สำหรับ LoRaWAN จาก สำนักงาน กสทช. และได้ดำเนินการติดตั้งโครงข่าย LoRaWAN เพื่อให้อาจารย์ นักศึกษา และผู้ที่สนใจได้ใช้งานในการทดลองพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ โดยที่โครงข่าย LoRaWAN นี้ เป็น Low Power Wide Area Network (LPWAN) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งออกแบบมาให้ประหยัดพลังงานและส่งข้อมูลที่ความเร็วต่ำ จึงเหมาะสำหรับเซ็นเซอร์ต่างๆและอุปกรณ์ที่ทำงานโดยใช้แบตเตอรี่ โดยที่การใช้เทคโนโลยี LoRa สามารถทำให้อายุแบตเตอรี่ของอุปกรณ์อยู่ได้นานถึง 10 ปี นอกจากจุดเด่นด้านการประหยัดพลังงานแล้ว ข้อดีของโครงข่าย LoRaWAN ยังมีอีกมาก เช่น มี Coverage ได้ไกลถึง 10 – 15 กิโลเมตรจาก Gateway ทั้ง Gateway และ Chipset สำหรับการพัฒนาอุปกรณ์มีราคาที่ถูก เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่น เช่น 3G และง่ายต่อการใช้งาน เนื่องจากมีสถาปัตยกรรมที่ไม่ซับซ้อน

นอกจากนี้ CAT ได้ทำการติดตั้งแพลทฟอร์มสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันและบริการด้าน IoT (IoT Service and Application Development Platform) ที่รองรับการทำงานร่วมกับโครงข่าย LoRaWAN และโครงข่ายอื่นๆ เช่น 3G, 4G ซึ่งแพลทฟอร์มนี้จะช่วยให้อาจารย์ นักศึกษา และผู้ที่สนใจสามารถพัฒนา IoT Application ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดย CAT จะร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในการพัฒนาบริการ IoT ต่างๆ บนโครงข่ายและแพลทฟอร์ม ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ระบบแจ้งเตือนกรณีเด็กติดอยู่ในรถโรงเรียน ซึ่งจะมีการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อตรวจจับว่ามีเด็กติดอยู่ในรถหรือไม่ หลังจากที่เครื่องยนต์ดับ และหากตรวจพบ จะทำการแจ้งเตือนผ่านโครงข่าย LoRaWAN (หรือโครงข่ายอื่นๆ) ไปยังอาจารย์หรือผู้ที่กำหนดไว้ ทันที่เพื่อให้สามารถมาช่วยเด็กได้ทันเวลา โดยความร่วมมือดังกล่าวจะร่วมสร้างสังคมไทยก้าวสู่สมาร์ทซิตี้และเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไทยในอนาคต

CAT และ วิศวะ จุฬาฯ เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมเมกะเทรนด์ ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคาร