ประสบความสำเร็จอย่างเหนือความคาดหมาย สำหรับ "ดีป้า" หน่วยงานภาครัฐยุคใหม่ ที่ตีโจทย์แตกกับงานที่ "ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝากความคาดหวังไว้ เมื่อโลกต่างตื่นตัว ขานรับกับงาน "Digital Thailand Bigbang 2017" จากสถิติตัวเลขการเข้าถึงบนโลกออนไลน์กว่า 8,194,648 ครั้ง โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า 241,004 คน พร้อมกองทัพสื่อมวลชน ทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 ราย กับคลังความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลกกว่า 144 เรื่อง โดยกูรูสตาร์ทอัพชื่อดังจาก 11 ประเทศทั่วโลก ที่สามารถรับชมย้อนหลังได้ผ่านทางเฟสบุ๊คไลฟ์
ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า เปิดเผยว่า "งาน Digital Thailand Bigbang ถือเป็นการลั่นกลองบอกให้โลกรู้ว่าประเทศไทยจะเร่งเครื่องเต็มที่สู่ความเป็น Digital Economy อย่างเต็มรูปแบบ แต่เราจะไม่หยุดเพียงเท่านี้ กับการสานต่อ ขยายเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศ อย่าง International Telecommunication Union (ITU) และ Global Entrepreneurship Network (GEN) ที่มีสมาชิกกว่า 160 ประเทศทั่วโลก เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เป็น Digital SMEs และ Digital Startup รวมไปถึงความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน ในการสร้างอุตสาหกรรมดิจิทัลในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ EEC ไม่น้อยกว่า 40 ราย ด้วยโปรเจคยักษ์ใหญ่อย่าง Digital Park Thailand, การสร้าง IoT Institute แห่งแรกในไทย, การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และอีกหลายโครงการที่มุ่งตอบโจทย์สู่ความเป็นไทยแลนด์ 4.0 ตั้งแต่วันนี้"
ขณะที่ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงการสานต่อความสำเร็จนี้ ด้วยการจัดงาน Digital Big Bang สัญจร ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่, ขอนแก่น,
อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยจะเริ่มจัด 2 แห่ง ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ต่อด้วยอีก 2 จังหวัดที่เหลือในเดือนมกราคมปีหน้า
ส่วนรูปแบบงานนั้นจะเป็นการย่อส่วนจากงานที่กรุงเทพฯ และเน้นการนำเสนอเทคโนโลยีในแต่ละภูมิภาค ด้วยการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และสภาหอการค้าในภูมิภาคนั้นๆเป็นหลัก
สำหรับงาน Digital Thailand Big Bang 2017 นั้น นอกจากความสำเร็จในด้านการจุดความสนใจของประชาชนทั่วไปแล้ว ยังมีส่วนผลักดันให้เกิดการเซ็น MOU ระหว่างภาครัฐและเอกชนของไทย รวม 15 ฉบับ เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC กว่า 40 ราย