มจธ. จับมือ รร.รางราชพฤกษ์นุมีอุทิศ ชุมชน และเขตทุ่งครุ ปลูกส้มเข่งพลิกฟื้น “ส้มบางมด”

03 Oct 2017
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จับมือ โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงเรียนรางราชพฤกษ์นุมีอุทิศ สำนักงานเขตทุ่งครุ และชุมชนในพื้นที่ทุ่งครุ ร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟู "ส้มบางมด" พืชท้องถิ่นที่เคยสร้างชื่อเสียงให้แก่ชุมชนในอดีต โดยสร้าง "แหล่งเรียนรู้ชุมชน" และ "มุมเรียนรู้ส้มบางมด" ปลูกฝังความเป็นเจ้าของทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ส้มบางมดให้คงอยู่ในชุมชนอย่างยั่งยืน
มจธ. จับมือ รร.รางราชพฤกษ์นุมีอุทิศ ชุมชน และเขตทุ่งครุ ปลูกส้มเข่งพลิกฟื้น “ส้มบางมด”

พรรณปพร กองแก้ว หัวหน้าโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น : การอนุรักษ์พันธุกรรมส้มบางมด นักวิจัย มจธ. กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยบูรณาการร่วมกับภูมิปัญญาพื้นบ้านของชุมชน เพื่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย โรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานราชการ ในการร่วมสนองโครงการพระราชดำริ อพ.สธ.ส้มบางมด ในพื้นที่ทุ่งครุ เนื่องจากอดีตเขตทุ่งครุเป็นพื้นที่กึ่งเมือง แต่ปัจจุบันความเจริญกำลังจะทำให้เป็นพื้นที่เมืองโดยสมบูรณ์ จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้พันธุกรรมของพืชที่สร้างชื่อเสียงในท้องถิ่นหายไป จึงทำให้เกิดโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมส้มบางมด ซึ่งเป็นพืชที่สร้างชื่อเสียงให้กับชุมชน โดยทำงานร่วมกับเครือข่าย อพ.สธ. ในพื้นที่ โดยมีโรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศเป็นโรงเรียนต้นแบบ ซึ่งความร่วมมือระหว่างเครือข่ายดังกล่าวจะส่งผลดีทำให้เกิดความต่อเนื่องของโครงการในพื้นที่

จากการศึกษาสถานภาพในพื้นที่ พบว่าวิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนไปจากทำสวนไปทำงานในโรงงาน ที่ดินของแต่ละครอบครัวลดน้อยลง แต่ชุมชนส่วนใหญ่ยังคงมีความต้องการที่จะร่วมกันอนุรักษ์พันธุกรรมส้มในพื้นที่บางมด ชุมชนส่วนใหญ่ต้องการปลูกส้มไว้ในบ้าน แต่ก็พบปัญหาในเรื่อง พื้นที่จำกัด คุณภาพดินไม่ดีพอ คุณภาพน้ำไม่เหมาะสม ฯลฯ จึงทำให้เกิดโครงการปลูกส้มในเข่ง เนื่องจาก ใช้พื้นที่ไม่มาก และสามารถจัดการดิน น้ำ ตลอดจนโรค แมลงได้ง่ายอีกทั้งยังมีน้ำหนักเบาง่ายต่อการขนย้าย ซึ่งได้ประยุกต์ใช้ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน สมจิตร จุลมานะ และสุพร วงศ์จินดา มาร่วมบูรณาการในการปลูก การดูแลรักษาต้นส้ม และได้รับความร่วมมือจาก อาจารย์ อวยพร หุ่นจีน เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการถ่ายทอดให้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียน ตลอดจนใช้พันธุ์ส้มเขียวหวานปลอดโรคจากแหล่งปลูกที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร

วาสนา มานิช ผู้จัดการพื้นที่ ได้กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชน และโรงเรียนเป็นผู้จัดกิจกรรม โดยมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงที่เข้ามาช่วยเหลือ นำร่องที่โรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศ โดยเริ่มปลูกส้มเข่งเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์พืช นอกจากนี้โครงการมหาวิทยาลัยกับโรงเรียน โดย เบญจวรรณ ดำรงกิจการ ได้มีแนวคิดพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ ประยุกต์การเรียนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แบบบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ กับหัวข้อส้มบางมด ให้กับโรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศ ปัจจุบันมีโรงเรียนวัดบัวผัน และโรงเรียนรุ่งอรุณที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน และหวังว่าในอนาคตอาจจะมีการปลูกส้มเข่งเป็นอาชีพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ปลูกฝังความรู้ให้กับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการให้รู้จักส้มในพื้นที่ เกิดความภาคภูมิใจ และอยากอนุรักษ์ส้มในถิ่นของตนเอง

อาจารย์วาสนา เจียนสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศ กล่าวว่า โรงเรียนมีโครงการเกษตรชีววิถี เพื่ออนุรักษ์สวนส้มซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียนสอดคล้องกับโครงการ อพ.สธ. ในเรื่องอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โรงเรียนต้องการสร้างแหล่งเรียนรู้ให้ชุมชนได้เรียนรู้เรื่องส้ม โดยทาง มจธ. ร่วมจัดการเรียนการสอนช่วยพัฒนาหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ผ่านกิจกรรม ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ กับ ส้มบางมด ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น : การอนุรักษ์พันธุกรรมส้มบางมด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 5 สร้างบทเรียน 10 กิจกรรม เป็นการเรียนรู้ ประวัติส้มบางมด การปลูกส้มบางมด ในห้องสมุดโรงเรียน สำหรับเยาวชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจเรื่องส้มสามารถเข้ามาศึกษาได้ นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมจิตอาสาเพื่อชุมชน โดยการให้ชุมชนใกล้เคียงได้มีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์พันธุ์ส้ม เช่น กิจกรรมศิลป์ประชารังสรรค์ มุมเรียนรู้ อพ.สธ. ส้มบางมด โรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศ เป็นกิจกรรมศิลปะบนผนัง ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก ธาตรี โภควนิช จากกลุ่ม 3C PROJECT โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อ โดยการวาดภาพเพื่อถ่ายทอดเอกลักษณ์ วิถีชีวิตในอดีตของชุมชนชาวบางมดและเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของส้มบางมดผ่านงานทางศิลปะบนผนัง นอกจากนี้ สุภาภรณ์ เจริญจิต เขตทุ่งครุ ได้แนะนำวิธีการทำตัวอย่างแห้งเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และสนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมส้มในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กับโรงเรียนด้วย

อนิรุจ นุชมี ผู้นำชุมชนพื้นที่เขตทุ่งครุ ประธานกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ทุ่งครุ กล่าวว่า มีความตั้งใจอยากให้โรงเรียน วัด มัสยิด และชุมชน เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อประโยชน์กับทุกคนในพื้นที่ จึงร่วมกับทาง มจธ. โดย อ.สุชาติ เพริดพริ้ง ที่ปรึกษาอธิการบดี มจธ. ได้เล็งเห็นประโยชน์การมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยกับชุมชน เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้มีโอกาสได้เรียนรู้อัตลักษณ์ของชุมชน ความเป็นอยู่ในอดีตที่ผ่านมา การปลูกส้มบางมด โดยได้รับความร่วมมือจากชุมชน สำนักงานเขต และสำนักงานเกษตรกรุงเทพมหานคร เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นอยู่บ้านเกิดของตนเอง ความเป็นมาของส้มบางมด ขั้นตอนการปลูก ทางโรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศ ได้เปิดพื้นที่ของโรงเรียนปลูกส้มเขียวหวานบางมด ในรูปแบบต่าง ๆ ในขณะนี้ เป็นที่น่ายินดีว่ากรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตจอมทองได้ยื่นขอจด "ส้มบางมด" เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ Geographical Indications: GI เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

HTML::image( HTML::image( HTML::image(