หนึ่งทศวรรษ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มศว สู่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ก้าวไกล ใจเข้าถึง

20 Oct 2017
วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2560 ศาสตราจารย์เกียรติยศ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ แพทย์ประจำพระองค์ และอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลประทาน พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายพินิจ จารุสมบัติ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และ ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้เกียรติปรารภกถาเรื่องทิศทางในอนาคตของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน เนื่องในโอกาส "หนึ่งทศวรรษ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน" ครบรอบ 10 ปี แห่งการโอนย้ายสู่สังกัดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
หนึ่งทศวรรษ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มศว สู่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ก้าวไกล ใจเข้าถึง

นอกจากนั้นยังมีการเสวนาในหัวข้อเรื่อง "ทิศทางของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน กับความร่วมมือระหว่าง 4 องค์กรชลประทาน" : วัดชลประทานรังสฤษดิ์ กรมชลประทาน โรงเรียนชลประทานวิทยา และ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และพิธีสมโภชรูปเหมือนสมเด็จพระราชมุนีสามีคุณูปรมาจารย์(หลวงปู่ทวด) สมเด็จพระพุฒาจารย์(หลวงปู่โต พรหมรังสี) พระธรรมโกศาจารย์(พุทธทาสภิกขุ) และพระพรหมมังคลาจารย์(ปัญญานันทภิกขุ) และยังมีการจัดทำหนังสือหนึ่งทศวรรษและการจัดแสดงนิทรรศการในหัวข้อเรื่อง "เส้นทาง 1 ทศวรรษ" ที่บอกเล่าเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน ตั้งแต่ปี 2550 – 2560

พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์(พระอารามหลวง) ได้เขียนบทความในหนังสือ หนึ่งทศวรรษ ว่า ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ครบหนึ่งทศวรรษ ก้าวไกลมาด้วยน้ำใจบุพพการีของทุกฝ่าย ตั้งแต่หม่อมหลวงชูชาติ กำภู อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ใจเข้าถึงความทุกข์ การเจ็บป่วยของเพื่อนมนุษย์จึงสร้างโรงพยาบาลชลประทาน หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เห็นความเจ็บป่วยที่เพิ่มมากขึ้นจนพื้นที่รองรับไม่เพียงพอ ใจเข้าถึงจึงสร้างตึก 80 ปี ปัญญานันทะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ใจเข้าถึงจึงรับโรงพยาบาลชลประทานอยู่ในกำกับของมหาวิทยาลัย เพื่อดูแลทั้งบุคลากร และผู้ป่วยรวมถึงการพัฒนาอาคารสถานที่จึงได้ ชื่อว่าศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เมื่อทุกท่านได้รับบุพพการี จากท่านทั้งหลายเหล่านั้น วันครบหนึ่งทศวรรษ ได้ร่วมใจกันบำเพ็ญบุญสมโภช รูปเหมือนสมเด็จพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด หลวงพ่อพุทธทาส สวนโมกข์ฯ หลวงปู่ปัญญานันทะ วัดชลฯ และสำคัญยิ่ง ขอให้ทุกท่าน ก้าวไกล ใจเข้าถึง ความกตัญญู กตเวที เพื่อตอบแทนคุณท่านด้วยการอนุเคราะห์ผู้ป่วยด้วยจิตรับรู้ว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น เราจึงไม่มีหน้าที่เพิ่มทุกข์เพิ่มโทษให้แก่ใคร ให้คิดเสมอว่า เราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน

หนึ่งทศวรรษของโรงพยาบาล ขอให้ทุกท่านมีกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา เข้มแข็ง เพื่อความก้าวไกลใจเข้าถึงบริการให้ทุกท่านที่มาโรงพยาบาลกลับไป หายทุกข์หายโศก หายโรค หายภัย โดยทั่วกัน และทุกท่านจงพบแต่ความปิติสุขตลอดไป

ศาสตราจารย์ ดร.ปานสิริ พันธุ์สุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับโรงพยาบาลชลประทาน หรือ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน ที่ได้เปลี่ยนไปเป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาครบ 10 ปี ในปี 2560 นี้ ตลอดเวลา 10 ที่ผ่านมาบุคลากรของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ ทุกท่าน ได้แก่ อาจารย์แพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนต่างๆ ได้ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลแห่งนี้อย่างเต็มกำลังเพื่อให้ทัดเทียมโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยจนสามารถจัดการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ทั้ง 3 ชั้นปีคือ ปี 4-6 ได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง

การย่างเข้าปีที่ 11 ของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน นั้น มาพร้อมกับการพัฒนาศักยภาพต่างๆ ของศูนย์การแพทย์ฯ อาทิเช่น ทางด้านอาคารสถานที่ที่มีตึกผู้ป่วยใหม่ หอพักนิสิตและบุคลากร รวมทั้งความพร้อมทางด้านการเรียนการสอน การเปิดหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่างๆ เป็นต้น เชื่อมั่นว่าในทศวรรษที่ 2 นี้ ศูนย์การแพทย์ฯแห่งนี้จะพัฒนาไปได้ตามที่ได้ตั้งเป้าประสงค์ไว้

นายแพทย์สุรสิทธิ์ ตั้งสกุลวัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน กล่าวว่า จากอดีตสู่ปัจจุบัน ตั้งแต่กระผมดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ก่อนปี 2550 ในขณะนั้นโรงพยาบาลชลประทานยังสังกัดอยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับรู้ว่ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีความประสงค์จะโอนย้ายโรงพยาบาลชลประทานเข้าสู่สังกัดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จนกระทั่งมีการโอนย้าย เมื่อ 7 ตุลาคม 2550 ซึ่งในขณะนั้นทีมบริหารได้มีการเตรียมความพร้อมในการวางรากฐานของการเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่จะต้องรองรับพันธกิจใหม่ เช่น งานการเรียนการสอน งานวิจัย งานบริการ งานแพทยศาสตร์ เป็นต้น อีกทั้งต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอีกมากมาย เนื่องจากได้งบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ และอาคารผู้ป่วย 20 ชั้น ขนาด 400 เตียง และการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และอาคารหอพัก ซึ่งได้มีการวางแผนอัตรากำลังทั้งอาจารย์แพทย์ และทีมสหสาขาวิชาชีพ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และคณะกรรมการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของงานวิจัยในอนาคต และปัจจุบันโรงพยาบาลได้มีการเตรียมความพร้อมทุกด้านในการเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และมีการให้บริการทางการแพทย์ในระดับ excellence เพื่อรองรับการขยายตัวของสังคมเมืองให้บริการได้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน

HTML::image( HTML::image( HTML::image(