มหกรรมหนังสือฯ ครั้งที่ 22 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ที่มีต่อวงการหนังสือไทยกับนิทรรศการ “ความท๙งจำ” ที่สุดแห่งความประทับใจ

18 Oct 2017
​นำเสนอพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านหนังสือพระราชนิพนธ์และหนังสือที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์กว่า 7 ทศวรรษ ดังพระบรมราโชวาทว่า หนังสือนั้นเป็น "สิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้"
มหกรรมหนังสือฯ ครั้งที่ 22 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ที่มีต่อวงการหนังสือไทยกับนิทรรศการ “ความท๙งจำ” ที่สุดแห่งความประทับใจ

ชวนนักอ่านพบกับหนังสือราคาพิเศษที่คัดสรรมาให้เลือกกว่า 1,000,000 เล่ม ร่วมกิจกรรมอ่าน-เขียนจากสำนักพิมพ์ 389 ราย รวมทั้งสิ้น 939 บูธ บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ด้วยแนวคิด "ความทรงจำ" และกิจกรรมน่าสนใจอีกมากมายตลอด 12 วัน

เมื่อวันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด "งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 (Book Expo Thailand 2017)" ในระหว่างวันพุธที่ 18 – วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 (12 วัน) ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด "ความทรงจำ"

พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "การส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านในประเทศของเรานั้น เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ตามแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560-2564 เน้น 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์แรกสร้างพฤติกรรมการอ่านให้คนทุกวัย ยุทธศาสตร์ที่ 2 อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชนทั้งในเมืองและภูมิภาค ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับคุณภาพแห่งการเรียนรู้ สื่อการอ่าน และยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการอ่าน ด้วยตระหนักอย่างแน่ชัดจากตัวอย่างของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วว่า ประเทศที่มีพลเมืองมีนิสัยรักการอ่าน จะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อการพัฒนาบ้านเมืองในด้านต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว มั่นคง และยั่งยืน"

นอกจากนี้ยังได้ชื่นชม การร่วมมือร่วมใจของภาครัฐและเอกชน โดยมีสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเป็นหลักในการประสานความร่วมมือ จัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 สร้างสรรค์นิทรรศการ "ความท๙งจำ" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อวงการหนังสือไทยตลอดรัชสมัยของพระองค์ เป็นโอกาสสำคัญสำหรับชาวไทย ที่จะได้เรียนรู้พระปรีชาสามารถด้านวรรณศิลป์ จากหนังสือพระราชนิพนธ์ และหนังสืออื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกด้วยนางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 (Book Expo Thailand 2017)" ถือเป็นงานแสดงหนังสือระดับชาติที่ได้รับความสนใจและรอคอยจากบรรดาคนรักการอ่านมาตลอด โดยงานมหกรรมหนังสือฯ ครั้งนี้จัดขึ้น ภายใต้แนวคิดและถ่ายทอดผ่านนิทรรศการในชื่อ "ความท๙งจำ" โดยการสนับสนุนจาก กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมศิลปากร และสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือ ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อวงการหนังสือของไทย ผ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ และหนังสืออื่นๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ด้วยความตระหนักว่า หนังสือเป็น "สิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้" สมดังพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ25 พฤศจิกายน 2514 ว่า

"...หนังสือเป็นการสะสมความรู้ และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมา แต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นคล้าย ๆ ธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้..."

"ตลอด 7 ทศวรรษที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญกับหนังสือในฐานะเครื่องมือในการส่งต่อและสร้างสรรค์ความรู้แก่มวลมนุษยชาติ ดังที่ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ได้ผูกพันกับหนังสือเป็นอย่างมาก มีข้อเขียนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง หนังสือ บทความ เพลงพระราชนิพนธ์ การแปล และการสร้างสรรค์อื่น เช่น ภาพถ่าย จิตรกรรม การประดิษฐ์ตัวพิมพ์ ตลอดจนการสนับสนุนให้มีการทำหนังสือการสร้างสรรค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดทำสารานุกรมสำหรับเยาวชน การแปลคัมภีร์ทางศาสนามาเป็นภาษาไทย ได้แก่ พระไตรปิฎก และพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน การสนับสนุนการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ

สำหรับไฮไลท์ของนิทรรศการความทรงจำ คือการนำ นิตยสาร "วงวรรณคดี" ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นนิตยสารที่ได้รับพระบรมราชานุญาตพิเศษให้ตีพิมพ์ พระราชนิพนธ์เรื่อง "เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์" ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องแรกเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ มาจัดแสดงร่วมกับหนังสือพระราชนิพนธ์เล่มอื่นๆ หนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอด 7 ทศวรรษในรัชสมัยของพระองค์

โดยเนื้อหาของนิทรรศการแต่ละทศวรรษจะแสดงได้ถึงประวัติศาสตร์โดยรวมของสังคมไทย ผ่านความทรงจำของเรื่องเล่าในตัวอักษร ทั้งจากหนังสือพระราชนิพนธ์และหนังสืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ

ทศวรรษที่ 1 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9มิถุนายน 2489 ขณะพระชนมายุเพียง 19พรรษา หลังจากขึ้นครองราชย์ไม่นานพระองค์ต้องกลับไปศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และกลับมาประกอบพระราชพิธีสำคัญในปี 2493คือพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (มีนาคม) พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส (เมษายน) และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (พฤษภาคม) หลังจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่ออีกครั้ง จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2494 จึงเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวร หรือในช่วงทศวรรษที่ 3 พระองค์มีพระราชดำริให้จัดทำโครงการสารานุกรมสำหรับเยาวชน และการแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานจากภาษาอาหรับมาเป็นภาษาไทย เพื่อพี่น้องชาวไทยมุสลิม และเป็นทศวรรษที่เริ่มมีพระราชกรณียกิจเพื่อการพัฒนาประเทศเกิดขึ้นอย่างมากมาย จากการเสด็จแปรพระราชฐาน เพื่อเยี่ยมเยือนประชาชนของพระองค์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ช่วงทศวรรษที่ 5 พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง "มูลนิธิชัยพัฒนา" เมื่อปี 2531 เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ ในทศวรรษนี้เองที่มีการพิมพ์หนังสือพระราชนิพนธ์อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากงานแปล นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ (2536) และ ติโต (2537) ส่วนทศวรรษที่ 6 ทศวรรษแห่งความสุขของชาวไทยกับพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ต่อมาเมื่อประเทศต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ พระองค์ได้พระราชทานแนวคิด 'เศรษฐกิจพอเพียง' ซึ่งยังเป็นแนวคิดที่ใช้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนงานพระราชนิพนธ์ต่างๆ ยังมีอย่างต่อเนื่อง มีการตีพิมพ์หนังสือ "พระมหาชนก" พ.ศ. 2539 และ "ทองแดง" พ.ศ. 2545 เป็นต้น

นอกจากนี้ในนิทรรศการฯ ยังได้จัดแสดง สิ่งพิมพ์และของที่ระลึกต่างๆ ที่จัดทำขึ้นหลังวันสวรรคต 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่รวบรวมหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาแสดงให้ชมมากที่สุดอีกด้วย

นอกจากนี้ นางสุชาดาได้กล่าวถึงหนังสือที่ระลึกที่จัดทำขึ้นเพื่อแจกในมหกรรมหนังสือฯครั้งนี้ว่า "เราได้รับการอนุเคราะห์จากหลายหน่วยงาน ร่วมกันจัดพิมพ์ สำเนาหนังสือ "วงวรรณคดี" ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 ซึ่งจำลองทั้งรูปเล่มและขนาดเหมือนต้นฉบับ เพื่อแจกให้กับผู้ร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น เพียงถ่ายภาพคู่กับโปสเตอร์ "ความท๙งจำ" ซึ่งจะติดอยู่ภายในงานมหกรรมหนังสือ โพสต์ลงเฟซบุ๊คตั้งค่าสาธารณะ พร้อมแฮซแท็ก #ความท๙งจำ และ #bookthai จากนั้นนำมาแสดงกับเจ้าหน้าที่ ณ บูธนิทรรศการภายในงาน โดยเปิดให้แลกตั้งแต่วันที่ 18 – 24 ตุลาคม 2560 วันละ 2 รอบรอบละ 800 เล่ม ระหว่างเวลา 11.00 – 12.00 น. และ 17.00 – 18.00 น. ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สนใจมาขอรับหนังสือเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้จัดทำของที่ระลึก ''ที่คั่นหนังสือแห่งความท๙งจำ' ที่ออกแบบเป็นพิเศษโดยนักออกแบบชื่อดัง จำนวน 9 แบบ เพื่องานมหกรรมหนังสือระดับชาติในครั้งนี้ จำหน่ายในราคาชิ้นละ 99บาท รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบให้กับศิริราชมูลนิธิ เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา โรงพยาบาลศิริราชอีกด้วย"

เตรียมตัวให้พร้อมกับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 22 ชมนิทรรศการ "ความท๙งจำ" และนิทรรศการอื่นๆ อาทิ - นิทรรศการ "100 Annual Book and Cover Design 2017" / นิทรรศการภาพถ่าย "๙ สู่สวรรคาลัย Journey to Heaven" / นิทรรศการ "ขอบฟ้าขลิบทอง... ส่องทางเรา กวี-ชีวิต-อุชเชนี" ร่วมรับฟังการเสวนา "๙ วัน ๙ ความทรงจำ ธ สถิตอยู่ในใจไทยนิรันดร์" กับบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่จะมาแบ่งปันความทรงจำอันทรงคุณค่าในห้วงเวลาสำคัญของชาวไทย อาทิ นายชวน หลีกภัย พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายแพทย์ดนัย โอวัฒนาพาณิชย์ เป็นต้น พร้อมกิจกรรมเสวนาและอบรมน่าสนใจอีกมากมายตลอด

มหกรรมหนังสือฯ ครั้งที่ 22 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ที่มีต่อวงการหนังสือไทยกับนิทรรศการ “ความท๙งจำ” ที่สุดแห่งความประทับใจ มหกรรมหนังสือฯ ครั้งที่ 22 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ที่มีต่อวงการหนังสือไทยกับนิทรรศการ “ความท๙งจำ” ที่สุดแห่งความประทับใจ มหกรรมหนังสือฯ ครั้งที่ 22 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ที่มีต่อวงการหนังสือไทยกับนิทรรศการ “ความท๙งจำ” ที่สุดแห่งความประทับใจ