นายแพทย์อนันต์ เกรียงไกรโชค อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น อธิบายให้ฟังว่า ในอดีตมักพบโรคหัวใจในผู้สูงวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ขึ้นไป จะมีอาการโรคหัวใจกันเยอะ หากเป็นผู้หญิงในวัยก่อนหมดประจำเดือนจะพบโอกาสของโรคน้อยกว่าเพศชาย ต่างจากหลังหมดประจำเดือนที่ทั้งหญิงและชายมีโอกาสพบโรคพอ ๆ กัน แต่ปัจจุบันเนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์ทำให้สามารถตรวจพบอาการของโรคหัวใจได้ดีขึ้น จึงพบว่าคนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปก็มีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้เช่นกันแม้ว่าปัจจุบันจะรู้สาเหตุของการเป็นโรคหัวใจได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของโรคร้อย เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจัยที่พบว่าเป็นที่มาของโรคหัวใจอันดับหนึ่งคือ กรรมพันธุ์ หากครอบครัวไหนมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ก็มีความเสี่ยงสูงที่ลูกหลานจะเป็นโรคดังกล่าวด้วย ส่วนสาเหตุอันดับสองคือ ความเสื่อมตามอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นระบบการทำงานของหัวใจและเส้นเลือดก็เสื่อมลง จึงมีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจมากขึ้น และอันดับสามคือ โรคร่วม โดย 3 โรคที่พบว่าเป็นสาเหตุของโรคหัวใจบ่อยที่สุดได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และ โรคไขมันในเลือดสูง
ไม่เพียงแค่นั้นยังมีปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น การสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารประกอบเป็นร้อยชนิดที่ทำให้เส้นเลือดแข็งและตีบง่าย รวมไปถึงสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเรื่องอาหารที่ปัจจุบันนิยมรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งมีไขมันค่อนข้างสูง จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและโรคไขมันในเลือดสูง สำหรับวัยมนุษย์ออฟฟิศที่ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ ก็พบว่าผู้ที่ทำงานอย่างเคร่งเครียดจะพบผู้ป่วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบสูง ต่างจากประชากรกลุ่มที่ไม่มีภาวะเคร่งเครียด ทำงานสบาย ๆ จะพบโรคน้อยกว่า ฉะนั้นจึงบอกได้ว่าความเครียดก็เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหัวใจเช่นกัน
ความรุนแรงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะเริ่มจากอาการเจ็บหน้าอก จากนั้นจะทำให้การบีบตัวของหัวใจไม่ดีจนก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่าเหนื่อยจนน้ำท่วมปอด และอีกอาการหนึ่งที่น่ากลัวคือหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้ แม้แต่คนที่แข็งแรงดี เล่นกีฬาเป็นปกติก็เป็นได้ ทั้งนี้หากสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ ให้ลองสังเกตว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้หรือไม่ 1. แน่นหน้าอก 2. เหนื่อยง่ายกว่าปกติ 3. อาการหัวใจเต้นผิดปกติ หากมีกลุ่มอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงจากพันธุ์กรรมอยู่แล้วก็ควรเข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี ถ้าเป็นไปได้รีบตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปี เพราะยิ่งรู้เร็วก็จะดูแลตัวเองได้เร็วขึ้น
วิธีดูแลตัวเองให้ต่อกรกับโรคหัวใจได้คือการรักษาสุขภาพให้ครบทุกด้าน ทั้งการกินอาหารที่มีประโยชน์ครบห้าหมู่ มีไขมันและคอเรสเตอรอลต่ำ พักผ่อนให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพียงวันละ 20 นาที 4 วันต่อสัปดาห์ และตรวจเช็คหัวใจเป็นประจำ แค่นี้ก็ฟิตสู้โรคหัวใจได้แล้ว
ที่มา : นายแพทย์อนันต์ เกรียงไกรโชค อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit