นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น และการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 10 – 12 ตุลาคม 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี กำแพงเพชร สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ ชัยนาท และตาก รวม 26 อำเภอ 187 ตำบล 1,045 หมู่บ้าน 1 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 43,633 ครัวเรือน 121,317 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย แยกเป็น
ลุ่มน้ำปิง 2 จังหวัด ได้แก่
กำแพงเพชร น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอพรานกระต่าย รวม 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 20 ครัวเรือน 56 คน นาข้าวได้รับความเสียหาย 50 ไร่
ตาก มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สอด อำเภอสามเงา อำเภอเมืองตาก และอำเภอบ้านตาก รวม 15 ตำบล 86 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,523 ครัวเรือน 2,552 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 5 จังหวัด ได้แก่
นครสวรรค์ น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอตาคลี และอำเภอโกรกพระ รวม 25 ตำบล 215 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,873 ครัวเรือน 11,619 คน
ชัยนาท น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอมโนรมย์ อำเภอสรรพยา อำเภอเมืองชัยนาท และอำเภอวัดสิงห์ รวม 14 ตำบล 47 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 567 ครัวเรือน 1,469 คน
สิงห์บุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี รวม 16 ตำบล 78 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,073 ครัวเรือน 9,776 คน
อ่างทอง น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอป่าโมก อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอโพธิ์ทอง และอำเภอไชโย รวม 27 ตำบล 71 หมู่บ้าน 1 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,636 ครัวเรือน 4,908 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 3,595 ไร่
พระนครศรีอยุธยา น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตคันกั้นน้ำใน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน อำเภอเสานา อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร และอำเภอบางปะหัน รวม 81 ตำบล 472 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 24,346 ครัวเรือน 68,168 คน
ลุ่มน้ำป่าสัก 1 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอบ้านหมี่ รวม 9 ตำบล 60 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,643 ครัวเรือน 22,231 คน
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย พร้อมระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังสู่ลำน้ำสายหลัก พร้อมเชื่อมโยงการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด ตลอดจนดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของผู้ประสบภัยเป็นหลัก พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป