ปมท. สั่งการ 14 จังหวัดภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2560

16 Oct 2017
กระทรวงมหาดไทย สั่งการ 14 จังหวัดภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2560 โดยมุ่งเน้นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมสนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมสรรพกำลัง วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เร่งแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงเน้นการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ และความปลอดภัยของประชาชน เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด และต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติ

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ปมท.) เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2560 มีโอกาสสูงที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้หรือผ่านบริเวณภาคใต้ ทางปลายแหลมญวน และเข้าสู่อ่าวไทย ส่งผลให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก รวมถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 14 จังหวัดภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มเชิงรุกไว้ล่วงหน้าตามแนวทาง ดังนี้1.มุ่งเน้นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ทั้งจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประสานให้หน่วยปฏิบัติเตรียมพร้อมรับมือและประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยอพยพหนีภัยได้ทันท่วงที 2.เตรียมพร้อมการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ โดยสนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมสรรพกำลัง วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ ทั้งพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่วิกฤต รวมถึงแบ่งมอบภารกิจและหน่วยงานรับผิดชอบในการประสานการปฏิบัติระดับพื้นที่อย่างชัดเจน 3.เร่งแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบสำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดอ่อนน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากที่มีสาเหตุจากสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบที่อาจซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน 4.ดูแลผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ เน้นการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชน กรณีสถานการณ์รุนแรง ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปพักอาศัยยังศูนย์พักพิงหรือจุดอพยพที่ปลอดภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเดินทาง และขนย้ายสิ่งของ ตลอดจนแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบแก่ผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดและต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ ฝากเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ ปริมาณฝน สถานการณ์น้ำในพื้นที่ พร้อมปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป