สุดเจ๋ง… นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างแพลตฟอร์มของเล่น 3 มิติ ย่อโลกทั้งใบสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่เพื่อเด็กพิการทางสายตา …การันตีด้วยรางวัลเวทีระดับนานาชาติ
ปัจจุบันในท้องตลาดมีของเล่นสำหรับเด็กทั่วไปให้เลือกซื้อมากมาย แต่สำหรับเด็กด้อยโอกาสโดยเฉพาะเด็กที่พิการทางสายตาแล้ว ของเล่นที่มอบทั้งความสนุก การเรียนรู้อย่างเหมาะสม และปลอดภัยที่ทำมาเพื่อเด็กกลุ่มนี้แทบไม่ค่อยมี ทำให้ 3 หนุ่ม-สาว อย่าง นางสาวภาดา โพธิ์สอาด (พี) จบการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ นายวสุพล แหวกวารี (ปาล์ม) ปี 4คณะวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ และนางสาวพัชณาพร วิมลสาระวงค์ (พีช) ปี 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมตัวกันคิดออกแบบของเล่นที่มอบประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กที่พิการทางสายตา ในผลงานที่ชื่อว่า "Time for Tales" (ของเล่นตอบโต้อัตโนมัติ 3 มิติ)
นางสาวภาดา โพธิ์สอาด (พี) กล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้ มีแรงบันดาลใจจากการทำThesisก่อนจบ และได้เลือกลงไปสำรวจข้อมูลปัญหาสำหรับเด็กผู้พิการทางสายตา แล้วพบว่าของเล่นที่ช่วยเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของน้องๆกลุ่มนี้มีอยู่อย่างจำกัด ต้องเล่นของเล่นชนิดเดียวกันกับคนปกติทั่วไป บางชิ้นเป็นของเล่นที่ไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ถึงประสบการณ์ และความรู้รอบตัว รวมทั้งเด็กตาบอดบางคนไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาตามเกณฑ์ ส่วนหนึ่งมาจากความผิดปกติทางการมองเห็น ก็ทำให้น้องๆกลุ่มนี้เรียนรู้ช้า ดังนั้น จึงอยากพัฒนาของเล่นสักชิ้นที่ช่วยเรื่องพัฒนาการของเด็กพิการทางสายตาให้มากที่สุด….จึงได้เข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ปี 5 ที่ดำเนินงานโดยเนคเทค สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาผลงานต่อ" เพื่อให้ผลงานชิ้นนี้มีความน่าสนใจขึ้น น้องพียังได้ชวนรุ่นน้องอีกสองคนมาร่วมก๊วนออกแบบผลงานชิ้นนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น… "นอกจากพีแล้ว ยังมีน้องปาล์มและน้องพีช มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน ปาล์ม จะช่วยดูในเรื่องของอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์และเทคโนโลยีทั้งหมด และพีชจะช่วยออกแบบชิ้นงานให้ดูมีรูปลักษณ์และสีสันของตัวชิ้นงานให้น่าสนใจ ส่วนพีจะดูภาพรวมดูเรื่องการตลาด รวมถึงเนื้อหาการเล่าเรื่องเพื่อสร้างการเรียนรู้…."
น้องพี เล่าต่อว่า ผลงานที่เธอทำเป็นของเล่นโต้ตอบอัตโนมัติรูปแบบใหม่สำหรับเด็กพิการทางสายตาวัยอนุบาลอายุ 4 – 9 ปี เป็นของเล่น Multisensory ที่ใช้เสียงและผิวสัมผัสในการส่งเสริมพัฒนาการ จินตนาการ และความรู้พื้นฐานอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเด็กพิการทางสายตาสามารถสัมผัสและเรียนรู้ในสิ่งที่เขาไม่สามารถจับต้องได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งความพิเศษอยู่ที่การออกแบบมาให้สามารถยกเข้าออกถอดประกอบหรือเปลี่ยนไปตามเรื่องราวนั้นๆ กลายเป็นของเล่นรูปแบบใหม่ที่ได้นำทักษะการสัมผัสและการฟังเอามาไว้ในชิ้นเดียวทำให้เด็กตาบอดสามารถเล่นของเล่นชิ้นนี้ได้ไปพร้อมกับการฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก และใช้จินตนาการในการเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน"
"ผลงานชิ้นนี้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเรียกว่า base คือ เป็นฐานมีทั้งหมด 4 ดินแดน แต่ละดินแดนจะมี texture ต่างกัน เช่น ดินแดนปราสาท ทะเลสาบ หมู่บ้าน และป่าไม้ ส่วนที่สองเป็นคาแรกเตอร์ตัวละครต่างๆที่ให้เด็กพิการทางสายตาสามารถๆสัมผัสได้ เช่น เจ้าหญิง เป็ดน้อย เด็กชาย หมาป่า เป็นต้น ส่วนวิธีเล่น ก็คือ เด็กๆจะจับที่ตัวละคร แล้วก็เอาไปวางบนหลุมในฐาน ซึ่งแต่ละฐานจะมีตัวหลุมวงกลมเป็นทรงกระบอกเพื่อนำตัวละครใส่ลงไป จากนั้นจะมีเสียงที่ตัวละครบรรยายถึงสถานที่ต่างๆทั้งหมดสี่ดินแดน" ปาล์ม เล่าถึงรายละเอียดคร่าวๆเกี่ยวกับผลงาน
เบื้องหลังการทำผลงานชิ้นนี้ทั้งสามคนต้องผ่านอุปสรรคมาไม่ใช่น้อย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ทั้งสามคนถอดใจ แต่ยิ่งกลับมีกำลังใจที่อยากจะพัฒนาผลงานต่อไปให้สมบูรณ์ขึ้นไปอีก…..พีช น้องเล็กของกลุ่ม กล่าวว่า "กว่าจะออกมาเป็นผลงานชิ้นนี้ พวกเราได้นำผลงานนำไปทดสอบที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ประมาณ 4-5 ครั้ง ซึ่งก็มีฟีดแบคที่ทั้งดีและไม่ดีกลับมาให้พัฒนาผลงานต่อ แต่ทุกครั้งที่เราไป ก็จะเห็นน้องๆ เขาเล่นอย่างมีความสุข เลยรู้สึกว่าเราทำมาเพื่อช่วยคนอื่น เราไม่ได้ทำมาเพื่อตัวเอง ถ้าเราทำของขึ้นมาสักชิ้นแล้วเขาได้รับประโยชน์จริงๆ กลายเป็นว่าของเล่นชิ้นหนึ่งสามารถสร้างการเรียนรู้ให้น้องๆอีกหลายคนจุดนี้เลยทำให้รู้สึกว่าเรามีคุณค่าที่ได้ทำประโยชน์ให้สังคม"
ด้านน้องพี กล่าวว่า "การเข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 5 มีส่วนช่วยให้เราเปลี่ยนมุมมองและความคิดในการทำงานไปเลย เช่น การเจอข้อผิดพลาดจากทำงานบ่อยๆ ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะเมื่อได้พบเร็วเท่าไหร่ เราสามารถลุกขึ้นมาแก้ไขได้เร็วเท่านั้น อีกอย่างการลงมือทำบ่อยๆจะทำให้เราเกิดความชำนาญ ช่วยให้เราพบโจทย์ปัญหาที่แท้จริง ส่งผลให้งานของเราเข้าไปตอบโจทย์และแก้ปัญหาของผู้ใช้ได้จริงๆ ที่สำคัญการได้พูดคุยและแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาในทีม หรือนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ จะทำให้เห็นทางออกของปัญหาชัดเจนกว่าการนั่งคิดคนเดียว ผลงานของเราก็จะพัฒนาได้เร็วขึ้นด้วย…ตอนแรกก่อนจะทำโปรเจคนี้ หนูเคยคิดว่าเราต้องเก่งถึงจะทำอะไรสำเร็จ หรือต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญก่อน ถึงจะทำโปรเจคใหญ่ๆได้ แต่ตอนนี้มุมมองในเรื่องนี้ได้เปลี่ยนไป ถ้าเราไม่เริ่มลงมือทำ เราก็จะไม่เก่งขึ้น ไม่พัฒนาขึ้น ดังนั้นถ้าอยากทำอะไรก็ลงมือทำเลย ขอแค่มีไอเดียที่ดี กับทีมที่ดีก็เริ่มต้นได้แล้ว แต่พอเริ่มแล้ว หลังจากนั้นจะมีปัญหาเกิดขึ้นเยอะมาก เราจะล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเหล่า แต่สิ่งที่จะฉุดเราขึ้น ให้เราทำมันต่อไปคือ Passion กับความมุ่งมั่น และความอดทน เราก็จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆไปได้เรื่อยๆไม่มีวันหยุด"
ที่ผ่านมา ผลงาน "Time for Tales" ได้รับรางวัลชมเชยและเบสท์พรีเซ็นต์ ประเภทผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Design Category) จากการประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนักศึกษาในระดับนานาชาติ จำนวน 8 ประเทศ 32 ผลงาน ในเวที ICREATE 2017 ที่ประเทศญี่ปุ่น และล่าสุดยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมสะอาด ในโครงการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17 มาอีกด้วย
"การได้รับรางวัลจากเวทีการประกวด ยังไม่ถือว่าเราประสบความสำเร็จ เรายังต้องพัฒนางานต่อไปอีก พัฒนาจนกว่าจะไปถึงมือผู้ใช้ได้จริงๆ ส่วนการได้ไปในเวทีนานาชาติก็เป็นโอกาสที่ดีทำให้เราได้เปิดหูเปิดตา ได้เห็นไอเดียจากเพื่อนหลายๆประเทศมาปรับใช้กับงานของเรา โดยตอนนี้พวกเรากำลังดำเนินการระดมทุนเพื่อจะนำของเล่นชิ้นนี้ไปบริจาคในหน่วยงานและสถานต่างๆที่ที่ต้องการ และได้มองเว็ปเทใจที่เป็นเว็ปทำ crowdfunding เพื่อวางแผนทำ CSR โดยเข้าไปคุยกับบริษัทต่างๆ แต่ยังอยู่ในขั้น Research หาข้อมูลอยู่ ซึ่งสุดท้ายปลายทาง อยากเห็นผลงานชิ้นนี้เป็นของเล่นที่เด็กปกติและพิการทางสายตาสามารถเล่นร่วมกันได้" น้องพี กล่าวทิ้งท้าย
ผลงานชิ้นนี้ยังต้องการต่อยอดในระดับอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับการเรียนรู้ของผู้พิการทางสายตาต่อไป หากผู้ประกอบการท่านใดสนใจสามารถติดต่อได้ที่ [email protected] หรือ Facebook: Pada Phosaard
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit