นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ตั้งใจ ดำเนินโครงการฯ และอยากให้ทุกคนมองด้วยใจเป็นธรรม การสร้างโอกาสให้ชุมชนเรียนรู้ที่จะระเบิดจากข้างในเรียนรู้ที่จะยอมรับหลักประชาธิปไตย เข้าใจกัน เอื้อเฟื้อกัน ตรวจสอบกันเอง จะสร้างสังคมเกษตรที่เข้มแข็งและมีความยั่งยืนในการพัฒนาได้จริง หรือคนในชุมชนต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ปัญหาถึงจะหมดไป ชุมชนหรือเกษตรกรต้องกล้าออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง ทั้งนี้ ในภาพรวมของการร้องเรียนจากศูนย์ดำรงธรรม เว็บไซต์กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่น ๆ พบจำนวน 132 โครงการ ใน 37 จังหวัด คิดเป็น 0.55% ของโครงการทั้งหมดที่ถูกร้องเรียน ซึ่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ทั้ง 132 โครงการ ปรากฏผลในจำนวน 110 โครงการ ไม่พบความผิดปกติ พบความผิดปกติ 1 โครงการ คือ "โครงการฟาร์มชุมชนหกหลัง" อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี และสำนักงานเกษตรอำเภอ ได้แจ้งความดำเนินคดีกับคณะกรรมการชุมชน และผู้ร่วมดำเนินการทั้งหมด ซึ่งต้องรอให้ฝ่ายสอบสวนพิจารณาความผิดต่อไป และอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบอีก 21 โครงการ
ขณะที่ 110 โครงการที่ตรวจสอบเสร็จแล้ว และไม่พบความผิดปกตินั้น แบ่งเป็น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. ขั้นตอน การดำเนินโครงการไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ ไม่ตรงกับความต้องการ จำนวน 62 โครงการ 24 จังหวัด ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การดำเนินงานในพื้นที่เป็นไปตามคู่มือ และแผนการปฏิบัติงาน โดยเจ้าหน้าที่ ได้มีการประชาสัมพันธ์ และชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการให้ชุมชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง ภายหลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ร้องเรียน และผู้ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบ ทำให้ผู้ร้องเรียนรับทราบและเข้าใจถึงข้อเท็จจริงนี้แล้ว
2. การจ้างแรงงานไม่โปร่งใส ทั้งที่เกษตรกรได้รับเงินค่าจ้างแรงงานไม่ตรงตามวันที่ปฏิบัติงาน การเปิดบัญชีเพื่อรับแรงงานแต่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริง จำนวน 36 โครงการ 18 จังหวัด ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พบว่า การดำเนินการจัดจ้างแรงงานเป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไข โดยเกษตรกร ผู้มีชื่อจากการสมัครเข้าร่วมการ จ้างแรงงานได้รับค่าแรงครบถ้วนตรงตามรายชื่อ และได้รับค่าจ้างแรงงานตรงตามวันที่มาปฏิบัติงานจริง โดยชุมชนได้มีการจัดทำบัญชีการจ้างแรงงานไว้เป็นหลักฐาน ดังนั้นจึงได้ชี้แจงและแสดงหลักฐานให้แก่ผู้ร้องเรียน
3. การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ทั้งราคาแพงเกินจริง ของไม่มีคุณภาพ ฯลฯ จำนวน 10 โครงการ 6 จังหวัด ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การดำเนินการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ มีการจัดเวทีชุมชนและบันทึกความต้องการในการใช้วัตถุดิบ และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามความต้องการของชุมชน โดยกลุ่มมีคณะกรรมการ ในการดำเนินงาน ได้แก่ กรรมการจัดซื้อจัดจ้าง กรรมการตรวจรับพัสดุ และกรรมการการเงินบัญชี เป็นต้น เพื่อตรวจสอบราคาและคุณภาพของวัสดุอุปกรณ์ โดยผู้ร้องไม่ทราบถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการจึงทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน นอกจากนี้ ยังมีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เข้ามาช่วยให้คำแนะนำและตรวจสอบการจัดทำบัญชี ให้ถูกต้อง
และ 4. ไม่มีการดำเนินโครงการจริง พบที่จังหวัดตรัง จำนวน 1 โครงการ ข้อเท็จจริงปรากฏ กลุ่มมีการดำเนินงานโครงการ และเบิกจ่ายค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าจ้างแรงงานจริง ตามขั้นตอนเป็นไปตามเงื่อนไข
นอกจากนี้ โครงการอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง 21 โครงการ 13 จังหวัด และได้เน้นย้ำในการตรวจสอบให้โปร่งใส และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การดำเนินโครงการไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ ไม่ตรงกับความต้องการของชุมชน จำนวน 12 โครงการ 8 จังหวัด 2. การจ้างแรงงานไม่โปร่งใส ทั้งที่เกษตรกรได้รับเงินค่าจ้างแรงงานไม่ตรงตามวันที่ปฏิบัติงาน การเปิดบัญชีเพื่อรับแรงงานแต่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริง จำนวน 2 โครงการ 2 จังหวัด และ 3. การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ทั้งราคาแพงเกินจริง ของไม่มีคุณภาพ ฯลฯ จำนวน 7 โครงการ 4 จังหวัด
ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้เปิด war room ในการรับข้อร้องเรียน เพื่อร่วมกันในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้น โดยสามารถโทรศัพท์มาแจ้งได้ที่ 02 579 3015 หรือผ่านระบบเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ทางเว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ www.moac.go.th