บทความหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เด็กเรียนรู้ชีวิตชาวนา จากมูลนิธิสยามกัมมาจล

30 Aug 2017
บทความหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เด็กเรียนรู้ชีวิตชาวนา จากมูลนิธิสยามกัมมาจล

ปัญหาเด็ก เยาวชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กแว๊น ท้องก่อนวัยอันควร ยาเสพติด ไม่เรียนหนังสือ ติดโทรศัพท์ มีนิสัยก้าวร้าว ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ยังเป็นปัญหาหนักอกที่ทุกภาคส่วนต้องการหาทางแก้ไข แต่ละพื้นที่ก็มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันไป ซึ่งที่อบต.หนองสาหร่าย จ.สุพรรณบุรี ได้ใช้โมเดล"โรงเรียนครอบครัว" เป็น "เครื่องมือ" ในการพัฒนาเด็ก เยาวชน ให้เป็นเด็กที่มีคุณธรรม เป็นคนดี มีวินัย รู้จักความกตัญญู นำร่องที่บ้านห้วยม้าลอยและขยายผลสู่ทุกหมู่บ้าน จนเกิดผลสำเร็จ ได้สร้างความผาสุกให้เกิดขึ้นกับครอบครัวและชุมชน

อบต.หนองสาหร่ายได้นำโมเดลโรงเรียนครอบครัวมาใช้ตั้งแต่ปี 2555 โดยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและทุกภาคส่วนในชุมชนจนเกิดกิจกรรมต่างๆ ที่นำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นกับครอบครัวและคนในชุมชน โดยเฉพาะกิจกรรมดำนาซึ่งเป็นไฮไลท์หลักที่ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 ในปี 2560 ได้จัดกิจกรรมดำนาตามรอยพ่อภายใต้ร่วมพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เด็กได้รู้รากเหง้าของตนเองและสร้างความสมัครสมานสามัคคีระหว่างคนสามวัย โดยกิจกรรมชาวชุมชนได้ให้ผู้ปกครอง ลูกหลานมาช่วยกันดำนาในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ โดยให้พ่อแม่ ผู้ปกครองช่วยสอนการปักดำให้แก่ลูกหลาน บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่นและสนุกสนานเพราะนอกจากกิจกรรมดำนาแล้วยังมีการแสดงวิถีชีวิตชาวนาของแต่ละประเทศ โดยมีชาวบ้าน ลูกหลานมาร่วมกันแสดงอีกด้วย เมื่อวันเสาร์ที่26 สิงหาคม 2560 ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านห้วยม้าลอย ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี

นายพรสันต์ อยู่เย็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย กล่าวว่าโรงเรียนครอบครัวคือการทำกิจกรรมที่เด็กและผู้ปกครองจะร่วมกันทำ มีผู้ใหญ่ใจดีเข้ามาร่วมสนับสนุน โดยให้เด็กเป็นคนคิดกิจกรรม เพราะเราอยากสอนให้เด็กมีความคิด และนำสิ่งที่เด็กคิดมาวิเคราะห์ผลดี ผลเสีย ที่เขาจะทำ ซึ่งกิจกรรมดำนาเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นปีละ 1 ครั้งที่หมู่บ้านห้วยม้าลอย ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก ใน 1 ปี จะเวียนจัดกิจกรรมให้ครบทั้ง 10 หมู่บ้าน ซึ่งกิจกรรมดำนาที่บ้านห้วยม้าลอยสามารถทำได้ต่อเนื่องยาวนานมาถึง 6 ปี เพราะเป็นกิจกรรมที่เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนในชุมชนได้แก่ อบต.หนองสาหร่าย โรงเรียน รพ.สต. วัด ชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนครอบครัว โรงเรียนบุตรเกษตรกร ประชาชนในหนองอียอทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน การเริ่มนำโมเดลโรงเรียนครอบครัวมาใช้นำร่องที่หมู่บ้านห้วยม้าลอย สืบเนื่องจากเมื่อหลายปีก่อนเริ่มมองเห็นปัญหาเด็ก เยาวชน จึงคิดหาภูมิคุ้มกันให้กับลูกหลานของตนเอง "มองเห็นปัญหาเด็กและเยาวชน หากไม่มีเกราะคุ้มกันตนเองไม่มีภูมิคุ้มกัน เขาจะหมดเวลาไปกันสิ่งแวดล้อมข้างนอกซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างที่จะแย่ ยาเสพติด การติดเกมส์ จะทำให้แก้ยาก วันนี้เราดึงเขามาอยู่กับเราให้ความอบอุ่นกับเขา พอเด็กมีความอบอุ่นเขาก็จะไม่ออกไปหาอะไรที่เป็นการท้าทายเขา หรือหากเขาออกไปสู่โลกภายนอก เขาก็สามารถพิจารณา สิ่งที่เขาไปพบไปเจอได้ เป็นการป้องกันเด็กของเราอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นการป้องกันไม่ใช่การแก้ไข การจัดกิจกรรม จึงมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้เด็ก เยาวชน ของเราเป็นเด็กที่ดีคุณธรรม เป็นคนดี มีวินัย รู้จักความกตัญญ และถ้าเด็กไม่รู้รากเหง้าของตัวเอง จะทำให้เด็กเมื่อโตไปไม่รักแผ่นบ้านเกิด การพัฒนาต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นก็จะไม่มี จะทำอย่างไรก็ได้ให้เขาสำนึกของบุญคุณแผ่นดิน รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่เป็นการต่อรุ่นต่อรุ่น"

ในส่วนของผู้ปกครองให้ความร่วมมือดีมาก นายกฯ บอกว่าก็ต้องเข้าไปคุยกับผู้ปกครองแต่ละบ้าน ในช่วงแรกๆ พวกเริ่มปีสองปีสามผู้ปกครองก็มาเข้าร่วมเอง "เพราะเริ่มเห็นเด็กแต่ละคนที่เข้าโครงการกับเราเป็นเด็กมีปัญหาทั้งนั้น ก้าวร้าวบ้าง ไม่สนใจในหน้าที่ของตนเอง ผู้ปกครองเห็นว่าเด็กที่เข้ามาประสบผลสำเร็จดีขึ้น ก็เริ่มส่งลูกหลานเข้ามาร่วมกัน"

นายกฯ เล่าอย่างภาคภูมิใจว่าวันนี้มีตัวอย่างเยาวชนที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน หลังจากดำเนินโครงการมา 5-6 ปีแล้ว "เด็กที่เข้าร่วมโครงการทุกคนสามารถเข้าเรียนต่อในระดับชั้นมหาวิทยาลัยทุกคน และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่นน้องฝ้าย เป็นเด็กเก็บตัว พูดกับพ่อแม่ก็ก้าวร้าว การเรียนก็ไม่มีคุณภาพ พอเข้ามาอยู่ในโรงเรียนครอบครัว น้องฝ้ายก็เปลี่ยนแปลงนิสัย เป็นคนที่อ่อนน้อม พูดเพราะกับพ่อแม่ วันนี้เขาไปเรียนมหาวิทยาลัย ครอบครัวก็มีความอบอุ่น ส่วนที่เป็นเด็กนอกระบบก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เช่น เบียร์ ตอนนี้เป็นเจ้าของธุรกิจเครื่องไฟ เป็นเด็กที่ครอบครัวมีปัญหาเป็นเด็กที่มีโอกาสเสียค่อนข้างเยอะ เมื่อเราดึงเขาเข้ามา เขาได้แนวความคิดจากโครงการไป ใหม่ๆ เขาก็ประกอบเครื่องไฟเล็กๆ ตอนนี้ธุรกิจใหญ่โตสามารถรับงานฝังลูกนิมิตหรืองานใหญ่ๆ ได้ จะบอกผู้ปกครองเสมอว่าคนที่ดูแลลูกของเราได้ที่สุดไม่ใช่โรงเรียนแต่เป็นครอบครัวนั่นเอง"นายกฯ กล่าวตบท้าย

ทางด้านเด็กนักเรียนจากรร.บ้านห้วยม้าลอย มาร่วมสะท้อนการเรียนรู้การดำนาโดยการถอดบทเรียนหลังทำกิจกรรม ได้แก่ ด.ญ.วรรณธิดา หอมไม่หาย(แพรว) อายุ 12 ปี ป.6 ,ด.ญ.ฐิติมน นาคะ (เค้ก) อายุ 11 ปี ป.5 ,ด.ญ.สันต์ฤทัย วงษ์สุวรรณ (น้ำฝน) อายุ 12 ปี ป.6 และด.ญ.อริยา หอมไม่หาย (อะ) อายุ 11 ปี ป.5 ทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 2 ปีขึ้นไป "น้องแพรว" สะท้อนว่าได้เรียนรู้วิธีการทำนา ความเหนื่อยความยากของชาวนาว่าเป็นอย่างไร และรู้คุณค่าของควายว่าอดีตเคยใช้ควายไถนาปัจจุบันมาใช้รถไถ ได้เรียนรู้ความสามัคคีของนักเรียนและชุมชน ส่วนที่บ้านก็ทำนา คิดว่าอาชีพทำนา เหนื่อย ลำบาก ไม่อยากเป็นชาวนา ได้มาเรียนรู้ว่าชาวนาลำบากแค่ไหนต้องมาทนร้อนเพื่อปลูกข้าวให้เราได้กิน เมื่อเรากินข้าวต้องกินให้หมดทุกเม็ด

ส่วน "น้องเค้ก" บอกว่าเข้าร่วมกิจกรรมดำนาได้ฝึกนิสัยที่ดีให้แก่ตนเองได้แก่ความขยันและอดทน ขยันที่จะทำนาให้เสร็จ อดทนต่อแดดที่ร้อนและอยู่ในน้ำและปวดหลังด้วยและได้สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้น ความสามัคคีหมายถึงถ้าเราทำงานคนเดียวก็จะหนักกว่าที่เราจะได้แบ่งให้เพื่อนๆ ทำ ช่วยกันทำหนูว่าจะทำให้งานเสร็จได้เร็วขึ้น อาชีพทำนาเหนื่อยและทำงานหนักมาก ถ้าไม่มีคนทำนาก็ไม่มีข้าวกิน" สำหรับ "น้ำฝน"บอกว่า "...ชอบกิจกรรมดำนาตอนปักต้นข้าวรู้สึกว่าสนุกดี แต่ก็ไม่อยากเป็นชาวนาเพราะว่าเหนื่อยมาก" สุดท้าย "น้องอะ" บอกว่า "สนุกได้ความรู้ ได้มาเจอเพื่อน สนุกได้เล่นดำในนา ได้เล่นกับเพื่อนๆ ได้ความรู้ในการดำนา ได้รู้วิถีชีวิตของชาวนา ได้ความรู้นำไปปรับใช้ เช่น เขาทำนารู้ว่าชาวนาเหนื่อยมากมีความขยันอดทน เราต้องทำให้ได้แบบชาวนาบ้างเป็นการฝึกนิสัยให้มีความอดทน การดำนาต้องมีความอดทน ขยัน เราต้องทำให้ได้ เราสามารถฝึกนิสัยสามารถทำได้เช่นการปลูกขมิ้น ทำงานบ้าน ช่วยพ่อแม่ไม่ให้เหนื่อยด้วย ทำงานบ้านเป็นการฝึกนิสัยคนที่รักษาความสะอาด"สรุปแล้วเด็กๆ ทุกคนรู้คุณค่าของอาชีพชาวนาและนำสิ่งที่ได้ฝึกฝนจนเกิดนิสัยที่ดีให้แก่ตนเอง

นายมงคล จินตนประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านกรวด ได้พานักเรียนชั้น ป.5-6มาร่วมกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่องมาถึง 3 ปี เผยว่า "เห็นการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนแต่ละรุ่นมาร่วมกิจกรรมก็จะซึมซัมการดำนา ซึมซัมความรู้สึกความรู้ที่ได้จากการดำนา มีการเปลี่ยนแปลง บางคนเขาจะพูดออกมาเลยว่าโตไปเขาจะเป็นชาวนา เวลาให้เขียนเรียงความ เขารักอาชีพเกษตรกร อยากเป็นชาวนาเพื่อสืบสานอาชีพบรรพบุรุษ ในส่วนพฤติกรรมนิสัย ก็เห็นการเปลี่ยนแปลง เด็กจะมีความอดทนในการทำงานและมีทักษะในการทำงานมากขึ้น"

สำหรับอบต.หนองสาหร่ายถือว่าเป็นหนึ่งในหน่วยงานท้องถิ่นที่ดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชนมาอย่างเข้มข้นและมีความต่อเนื่องภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 1 : โรงเรียนครอบครัว เกิดขึ้นจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาพลเมืองที่ดี (Good active citizen) และมีจิตอาสาเพื่อชุมชนท้องถิ่นและประเทศได้สนับสนุนให้สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาดำเนินโครงการ โดยเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้และการจัดการความรู้ของเด็กและเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ประสานและเชื่อมโยงความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในชุมชนท้องถิ่น ได้แก่ ครอบครัว วัด สถานศึกษา สถานีอนามัย แหล่งเรียนรู้ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานภาครัฐและองค์กรธุรกิจเอกชน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับตำบลเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ในลักษณะ "เสริมพลัง (Synergy)" ที่เน้น "การมีส่วนร่วม" และเป็น "เจ้าของ" ชุมชนท้องถิ่น จากนั้นอบต.หนองสาหร่ายก็เข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนับโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และล่าสุดเข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : เวทีขับเคลื่อนกลไกในการพัฒนาเด็กและเยาวชนระดับหมู่บ้านและตำบล การเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องทำให้การพัฒนาเด็กและเยาวชน ครอบครัว ชุมชนจึงเกิดความเข้มแข็งและมีผลสัมฤทธิ์ดังที่เห็นในปัจจุบัน อบต.หนองสาหร่ายจึงเป็นตัวอย่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ไม่ย่อท้อต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน จนหาหนทางแก้ไขปัญหานั้นได้สำเร็จ.

HTML::image( HTML::image( HTML::image(