กพร. ยืนยันกฎหมายแร่ฉบับใหม่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมให้การทำเหมืองแร่เป็นไปอย่างสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

30 Aug 2017
ตามที่ปรากฏว่า มีการตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมของเนื้อหาของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 บางประเด็นว่า มีการแบ่งเหมืองออกเป็น 3 ประเภท เพื่อให้ขั้นตอนการอนุมัติสั้นขึ้น หลีกเลี่ยงไม่ต้องทำ EIA หรือ EHIA เปิดช่องให้มีการประมูลแหล่งแร่เป็นแปลงขนาดใหญ่ เปิดโอกาสไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบโลหกรรมในเขตประทานบัตรเหมืองแร่ และสามารถนำพื้นที่ ส.ป.ก. ไปใช้ประโยชน์อื่นที่ไม่เกี่ยวกับเกษตรกรรมได้
กพร. ยืนยันกฎหมายแร่ฉบับใหม่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมให้การทำเหมืองแร่เป็นไปอย่างสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงถึงความเหมาะสมของบทบัญญัติตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ในประเด็นที่ตั้งข้อสังเกต ดังนี้

• พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 กำหนดให้แบ่งการทำเหมืองออกเป็น 3 ประเภท เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการแร่และการกระจายอำนาจในการอนุญาต การควบคุม กำกับดูแล ให้มีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขอำนาจในการอนุญาตประทานบัตร จากรัฐมนตรีเป็นการอนุญาตในรูปแบบของคณะกรรมการแร่ ที่มีผู้แทนจากองค์กรเอกชนและองค์กรชุมชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการแร่ด้วย ส่วนขั้นตอนการขออนุญาตยังต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเช่นเดิม และกฎหมายแร่ใหม่นี้ ได้เพิ่มขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตร กำหนดให้ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

ทั้งนี้ การทำเหมืองประเภทที่ 2 เหมืองขนาดกลาง และการทำเหมืองประเภทที่ 3 เหมืองขนาดใหญ่ ซึ่งเหมืองทั้งสองประเภทนี้อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยังคงกำหนดให้เป็นประเภทหรือโครงการหรือกิจการ ที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)

• พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 กำหนดให้สามารถนำพื้นที่ที่มีศักยภาพแร่สูงและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง ไปประกาศให้มีการประมูลให้ภาคเอกชนผู้ชนะการประมูลได้สิทธิในการสำรวจแร่หรือการทำเหมือง ในพื้นที่นั้น ซึ่งต้องเป็นพื้นที่ที่ภาครัฐเป็นผู้ลงมือสำรวจหรือมีข้อมูลอยู่แล้ว ก็เพื่อให้รัฐได้รับประโยชน์สูงสุด แทนการปล่อยให้เอกชนรายใดรายหนึ่งนำข้อมูลการสำรวจของรัฐไปขอสิทธิสำรวจและทำเหมือง ทั้งนี้ ผู้ชนะการประมูลจะต้องทำการสำรวจแร่หรือทำเหมืองแร่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ด้วย

• สำหรับกรณี การประกอบโลหกรรมในเขตประทานบัตรไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบโลหกรรมนั้น จะเป็นกรณีโครงการทำเหมืองแร่ขนาดใหญ่และมีกิจกรรมดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ประทานบัตร ซึ่งถ้าการยื่นคำขอประทานบัตร ผู้ยื่นคำขอได้เสนอแผนผังโครงการทำเหมืองมาครบถ้วนในคราวเดียวกัน ก็เป็นประโยชน์ในการพิจารณาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นการลดขั้นตอนการอนุญาต

• การนำพื้นที่ ส.ป.ก. ไปใช้ประโยชน์อื่นที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 31/2560 เรื่อง การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 แต่อย่างใด

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ขอยืนยันว่า พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 นี้ ยังคงหลักการโดยรวมของกฎหมายแร่ฉบับเดิมไว้ โดยเพิ่มเติมหลักการสำคัญให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้เป็นไปอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม