นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า งานศิลปหัตถกรรม ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติ ที่มีการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และกระบวนการสร้างสรรค์งานผ่านช่างฝีมือที่มีความรู้ความชำนาญจากรุ่นสู่รุ่น หากแต่ความรู้เหล่านี้ไม่ได้มีการบันทึกหรือเก็บรวบรวมไว้ให้เป็นรูปธรรม จึงลบเลือนและสูญหายไปตามกาลเวลา SACICT ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสาน และรวบรวมงานหัตถศิลป์ไทยให้คงอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน โดยดำเนินการสืบค้น และให้ความสำคัญกับบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่ได้รักษาและถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้ที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ให้เป็น "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่คุณค่าของผลงานของครูฯ สู่ผู้สนใจในงานศิลปหัตถกรรม ทั้งเยาวชน และสาธารณชนได้รู้จักอย่างกว้างขวาง ตลอดจนเป็นการเก็บรักษาข้อมูลภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมของครูช่างเหล่านี้ไว้เป็นแหล่งความรู้แม่แบบ เพื่อถ่ายทอดแก่คนรุ่นหลังสืบต่อไป
ในปี 2560 นี้ มี "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" ที่ได้รับการคัดเลือกทั้งสิ้น 10 ท่าน ได้แก่ นายแวฮามิ วานิ จ. ปัตตานี ผู้สืบทอดการทำว่าวจากบรรพบุรุษที่เป็นช่างหลวงวังสายบุรี จังหวัดปัตตานี ที่สืบทอดการทำว่าว "เบอร์อามัส" ว่าวที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นใต้ นางจำปี ธรรมศิริ จ.อุทัยธานี ผู้อนุรักษ์และสืบสานศิลปะการทอผ้ายลายโบราณจากบรรพชนชาวลาวครั่งอย่างเข้มแข็งมีทักษะและความชำนาญการสร้างลายผ้าในแบบของตนเอง ใช้เทคนิคการทอผ้าแบบดั้งเดิมเพื่อให้ลวดลายบนผ้าทอมีความสวยงามเด่นชัด มีเทคนิคการใช้รูปแบบลายพื้นฐานที่เรียกว่า "กุญแจลาย" มาดัดแปลงสามารถทอผ้าเป็นลวดลายตามจินตนาการได้แม้ขณะที่ฟังเพลง หรือการฟังบทกวี จ.ส.อ.ดร.ทวี บูรณเขตต์ จ.พิษณุโลก ผู้สร้างสรรค์งานหัตถศิลป์การปั้น-หล่อพระพุทธรูปในสมัยและปางต่างๆ ที่ใด้รับการยอมรับทั้งประเทศว่ามีความงดงาม และเป็นบุคคลที่รักษาอัตลักษณ์งานปั้นพระพุทธชินราชให้คง อยู่จนถึงปัจจุบันได้รับการยกย่องว่าเป็น "เพชรน้ำเอกแห่งวงการช่างศิลป์" นายสูดิน ดอเลาะ จ.นราธิวาส เป็นบุคคลที่มีฝีมือทักษะความชำนาญในการทำกลองบานอ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีในวิถีและวัฒนธรรมมุสลิมในแถบชายแดนใต้ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทำด้วยมือทุกขั้นตอนจากวัตถุดิบในพื้นที่ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และคงเหลือที่ อ.แว้ง ที่เดียวเท่านั้น นางปราณีต วรวงสานนท์ จ.นครราชสีมา เป็นผู้ที่สานต่อภูมิปัญญาผ้าทอชาติพันธุ์ไท-ยวนโดยอุทิศตนถ่ายทอดให้กับเยาวชนรุ่นใหม่เพื่อมิให้ผ้าทอไท-ยวนสูญหายไปตามกาลเวลาคงคุณค่าเอกลักษณ์ของผ้าทอไท-ยวนในพื้นที่สีคิ้วแบบดั้งเดิม ที่มีมานานกว่า 200 ปี นางสุนา ศรีบุตรโคตร จ. อุดรธานี เป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายขิดที่มีมาตั้งแต่โบราณมีองค์ความรู้ทอผ้าไหมลายขิดได้อย่างสวยงามประณีต เป็นผู้อนุรักษ์ฟื้นฟูลายโบราณที่ใกล้จะสูญหาย ตลอดจนคิดค้นประยุกต์ลวดลายขึ้นมาใหม่ อาทิ ลายสมเด็จ ลายมรดกโลก ซึ่งเป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดอุดรธานี นายใจ๋คำ ตาปัญโญ จ.เชียงใหม่ เป็นผู้สร้างสรรค์ของเล่นจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์แก่สังคมเป็นผู้รื้อฟื้นการประดิษฐ์ของเล่นพื้นบ้านล้านนาอย่างจริงจังจากที่เคยใกล้สูญหายไปจากวิถีชีวิตเป็นผู้ริเริ่ม "โครงการอุ๊ยสอนหลาน" นางสมคิด หลาวทอง จ.กรุงเทพฯ เป็นเหมือนผู้เป็นแม่ครูผู้หนึ่งที่มีฝีมือการปักชุดโขน ละครแบบโบราณดั้งเดิมที่วิจิตรงดงาม ที่ได้รับการยอมรับในฝีมือจากกรมศิลปากรเป็นผู้อนุรักษ์กระบวนการปักชุดโขนละคร นาย กริ้ม สินธุรัตน์ จ.สงขลา เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการทอผ้า และคิดลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของเกาะยอ และสอนศิลปะการทอผ้าแก่ชาวบ้านและลูกหลาน ตั้งแต่อดีต ถึง ปัจจุบัน และนายกุศล เรณุนันท์ ณ อยุธยา จ.อำนาจเจริญ เป็นผู้สืบสานและอนุรักษ์ศิลปะการแทงใบลาน งานศิลปกรรมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณการอนุรักษ์สืบสานงานศิลปะที่เป็นภูมิปัญญาของไทย เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้ภาคภูมิใจ และได้ชื่นชมสมบัติของแผ่นดิน
ผู้สนใจสามารถมาชมงานหัตถกรรมไทยอันทรงคุณค่าเหล่านี้ได้ที่งาน SACICT เพลิน Craft ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 3 กันยายนนี้ ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สอบถามเพิ่มเติม โทร 1289 ,www.facebook.com/sacict
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit