นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำ สภาวะอากาศ และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร พบว่า พายุโซนร้อน "ปาข่า" ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น และคาดว่าในวันที่ 28 สิงหาคม 2560 จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณตอนเหนือของประเทศลาว และประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับ ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ในช่วงวันที่ 28 สิงหาคม – 2 กันยายน 2560 มีฝนตกเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่งในทั่วทุกภาคของประเทศ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงประสาน 50 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยแยกเป็น ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำกกและลุ่มแม่น้ำน่าน ซึ่งมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นและเริ่มเอ่อล้นตลิ่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี และลพบุรี ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 13 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย และจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียง เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ที่ลาดชันเชิงเขา บริเวณริมชายฝั่งทะเล และพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัย ให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในช่วงฝนตกหนักสะสมในพื้นที่และช่วงเวลาที่มีน้ำทะเลหนุนสูง กรณีมีฝนตกหนักถึงหนักมากปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรต่อวัน ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัย หรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแผนปฏิบัติการฯ แผนเผชิญเหตุของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวทางการจัดการสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากสถานการณ์รุนแรงเกินศักยภาพให้รายงานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป