เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดโครงการวัฒนธรรมเชื่อมใจชายแดนใต้สันติสุข "กริชาภรณ์ : ภูมิปัญญาอาเซียน ประจำปี 2560 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดปัตตานี มีพลโท อุกฤษณ์ อากาศวิภาต ที่ปรึกษาผู้แทนพิเศษของรัฐบาล นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายประยูรเดช คณานุรักษ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี นายกิตติพันธ์ พานสุวรรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล และสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น คณะวิทยากรและผู้เข้าร่วมเสวนาจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ปลัดวธ. กล่าวว่า วธ. มีนโยบายหลักในการใช้มิติวัฒนธรรมสร้างคนเป็นคนดี สังคมมีความปรองดอง สมานฉันท์ สร้างรายได้ให้ชุมชนสร้างความมั่นคงให้ประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างภาพลักษณ์ เกียรติภูมิของไทยสู่เวทีโลก การจัดงานครั้งนี้ นับว่าตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ซึ่ง วธ.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะส่งผลให้ประชาชนในท้องถิ่น เกิดความภาคภูมิใจ รักและหวงแหนมรดกวัฒนธรรม และมีส่วนร่วมในการสืบสาน ปกป้องคุ้มครองมรดกวัฒนธรรม นำมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ที่สำคัญเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้ มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง อาวุธโบราณ กริช ผ้า และเครื่องแต่งกาย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากนักวิชาการด้านกริช ผ้าและเครื่องแต่งกาย จากประเทศต่าง ๆ อาทิ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และบรูไน รวมทั้ง วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องโลหะในประเทศไทยเข้าร่วมกิจกรรม ทาง วธ.จะนำไปรวบรวมองค์ความรู้เผยแพร่สู่คนรุ่นใหม่ สืบทอด อนุรักษ์ และพัฒนาต่อไป
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานี มีความเป็นพหุวัฒนธรรม อย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากหลักฐานที่ปรากฏชัด โดยเรียงลำดับอายุความเก่าแก่ เช่น ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว วัดช้างให้ และมัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานบ่งบอกถึงความเป็นพหุวัฒนธรรม ได้เป็นอย่างดี สำหรับกริช และอาภรณ์ ก็เช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรม พัฒนาการทางด้านประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาของจังหวัดปัตตานีและดินแดนแถบนี้ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก นายประยูรเดช คณานุรักษ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี พอสังเขประบุว่า กริช เป็นอาวุธประจำตัวที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในสมัยก่อน นิยมใช้กันมากในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย สำหรับประเทศไทยนิยมในหมู่ชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ กริชมีบทบาทเป็นทั้งอาวุธ และเครื่องประดับกายที่บ่งบอกถึงความเป็นชายชาตรีที่แสดงถึงความกล้าหาญ สถานะทางสังคม และเศรษฐกิจของผู้เป็นเจ้าของหรือของตระกูล ปัจจุบันช่างทำกริชลดน้อยลง ศิลปะการแสดงจากกริชอย่าง "รำกริช"และ "ซีละกริช" ก็หาชมได้ยากแล้ว อย่างไรก็ตาม การใช้กริชเพื่อบ่งบอกฐานะทางสังคมยังคงหลงเหลืออยู่บ้างในประเทศมาเลเซีย ที่สุลต่าน หรือชนชั้นสูงยังใช้กริชเป็นสัญลักษณ์ และกริชยังคงมีบทบาทหลงเหลืออยู่ในรูปแบบของเครื่องประดับในงานต่าง ๆ เช่น การเข้าสุนัต และการแต่งงาน เป็นต้น
สำหรับการแต่งกาย จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดหนึ่งใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งประชาชน ที่นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม ซึ่งมีความนิยมที่เหมือนกัน คือ การนุ่งผ้าถุงหรือโสร่งทั้งหญิงและชาย ผู้ชายจะนุ่งผ้าโสร่งลายตาหมากรุก ผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าโสร่งปาเต๊ะ สำหรับชาวไทยมุสลิมสิ่งที่สำคัญคือต้องมิดชิดตามหลักศาสนา ซึ่งการแต่งกายเช่นนี้มีวิวัฒนาการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตามลำดับ