ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เชิดชูสุดยอดบุคคลระดับบรมครู ผู้มีทักษะฝีมือเชิงช่าง อนุรักษ์และสืบสาน รักษาคุณค่าภูมิปัญญาดั้งเดิมในงานศิลปหัตถกรรมหลายสาขา จากทั่วประเทศ เป็น "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" และ "ครูช่างศิลปหัตถกรรม" ปี 2560 พร้อมนำผลงานหัตถกรรมภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ใกล้สูญหาย งานสุดยอดเทคนิคเชิงช่างจัดแสดงภายในงาน "SACICT เพลิน Craft" ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 3 กันยายน 2560 ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เห็นถึงความสำคัญการอนุรักษ์ และสืบสานเพื่อรักษาคุณค่าภูมิปัญญาดั้งเดิมในศาสตร์และศิลป์เชิงช่าง เพื่อให้ดำรงคงอยู่ส่งต่อไปถึงคนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่า และเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยกันอนุรักษ์ รักษา สืบสานต่อไป โดยไม่สูญหายไปตามกาลเวลา และในขณะเดียวกัน ก็มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผสมผสานผ่านการพัฒนาและสร้างสรรค์สู่ความร่วมสมัย และสมัยนิยม อันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ SACICT จึงมีการดำเนินกิจกรรมคัดสรร และเชิดชูบุคคลผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม อนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษเป็น "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" และ "ครูช่างศิลปหัตถกรรม" ประจำปีมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา
และในปี 2560 นี้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วม คัดสรรบุคคลมีทักษะฝีมือเชิงช่าง อนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิม ก่อเกิดเป็นผลงานศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่า มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะงานศิลปหัตถกรรม ในประเภทที่มี ไกล้จะสูญหาย หรือเหลือผู้อยู่ทำน้อยราย โดยพิจารณาจากผู้ที่เสนอผลงานเข้ามาจากทั่วประเทศ คัดสรรผู้มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ เหลือที่สุดของบุคคลระดับบรมครูในงานศิลปหัตถกรรม เชิดชูเป็น "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" และ "ครูช่างศิลปหัตถกรรม" ประจำปี 2560
โดยเฉพาะบุคคลเป็นได้รับการเชิดชูเป็น "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" 10 คน ในปีนี้เป็นที่น่าภาคภูมิใจยิ่งนัก ทุกคนยังคงยึดมั่นรักษาภูมิปัญญาในงานหัตถกรรมดั้งเดิมที่นับวันไกล้จะสูญหาย สร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่นที่สะท้อนทักษะฝีมือ และมีจิตวิญญาณในความเป็นช่างฝีมือที่ต้องการจะถ่ายทอดส่งต่อสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน คนรุ่นหลัง ให้ช่วยกันสืบสานรักษาต่อไป โดยเฉพาะงานหัตถกรรมที่ไกล้สูญหาย เหลือผู้ทำน้อยราย โดย 10 สุดยอดระดับบรมครู "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" ดังประกอบด้วย
นายแวฮามิ วานิ งานหัตถกรรม "ว่าวเบอร์อามัส" จังหวัดปัตตานี ใช้เวลามากว่า 60 ปี สืบทอดการทำว่าว "เบอร์อามัส" ว่าวที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของชาวมายูชายแดนใต้มาอย่างยาวนานนับ 100 ปี สืบทอภูมิปัญญาการทำว่าว "เบอร์อามัส" ที่ใกล้สูญหาย ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงครอบครัววานิ เพียงครอบครัวเดียวที่ยังคงสืบสานการทำว่าวในท้องถิ่นชายแดนใต้จนถึงปัจจุบันนี้ นางจำปี ธรรมศิริ งานหัตถกรรมผ้าทอลาวครั่ง จังหวัดอุทัยธานี รักษาภูมิปัญญาลายผ้าโบราณแบบลาวครั่งที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ผสานกับจินตนาการ ถ่ายทอดผลงานสู่ปัจจุบันในหลักการทำงานแบบ "สมองสั่งลาย หัวใจสั่งทอ" มีทักษะและความสามารถทอผ้าเป็นลวดลายตามจินตนาการได้แม้ขณะที่ฟังเพลง หรือฟังบทกวี หรือการพบเห็นสถานที่ต่างๆ ก็นำมาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นลวดลายบนผืนผ้าได้ นางปราณีต วรวงสานนท์ งานหัตถกรรมผ้าทอไท-ยวน (สีคิ้ว) จังหวัดนครราชสีมา สานต่อภูมิปัญญาผ้าทอที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ไท-ยวน ที่มีมานานกว่า 200 ปี ที่นับวันใกล้จะสูญหาย นางสมคิด หลาวทอง งานปักโบราณ (ชุดโขน-ละคร) กรุงเทพมหานคร แม่ครูผู้สั่งสมประสบการณ์การปักชุดโขน/ละคร งานหัตถศิลป์คู่แผ่นดินที่มีมานับหลายร้อยปี ฝีมือการปักแบบโบราณดั้งเดิมที่วิจิตรงดงามอยู่คู่เกาะรัตนโกสินทร์แห่งชุมชนเขียนนิวาสน์มากว่า 60 ปี นายกุศล เรณุนันท์ ณ อยุธยา งานหัตถกรรมแทงใบลาน จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณการอนุรักษ์สืบสานงานศิลปะโบราณที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย จากการใช้แกะชื่อผู้วายชนม์ในอดีต สู่การฟื้นฟูศิลปะการแทงใบลานสร้างสรรค์เป็นภาพผลงานต่างๆ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไว้ หวังให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมงานแทงใบลานสมบัติของแผ่นดิน จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ งานปั้น-หล่อพระพุทธรูป จังหวัดพิษณุโลก เพชรน้ำเอกแห่งวงการปั้น-หล่อพระพุทธรูป ทักษะฝีมือเชิงช่างที่ครบครัน โดยเฉพาะการปั้น-หล่อ "พระพุทธชินราช" ที่ใด้รับการยอมรับทั้งประเทศว่ามีความงดงามมากๆ จนหาคน ในพื้นที่เทียบได้ยากนัก นายสุดิน ดอเลาะ งานหัตถกรรมกลองบานอ จังหวัดนราธิวาส ปราชญ์ชาวบ้านแห่งอำเภอแว้ง ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีฝีมือความชำนาญในภูมิปัญญาการทำกลองบานอที่ปัจจุบันไม่มีใครทำและใกล้สูญหายอย่างหาตัวจับยาก เสียงที่ดังกังวานของกลองบานอเป็นการต่อลมหายใจผู้ทำที่เหลืออยู่เพียงพื้นที่เดียวใน อำเภอแว้งแห่งนี้ ยังคงทุ่มเท อนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมที่ใกล้สูญหายนี้ให้คงอยู่คู่กับวัฒนธรรมแบบไทยมุสลิมต่อไป นางสุนา ศรีบุตรโคตร งานหัตถกรรมผ้าขิดไหม จังหวัดอุดรธานี ผู้สืบทอดเอกลักษณ์การทำผ้าลายขิด เอกลักษณ์ผ้าทอแห่งจังหวัดอุดรธานี ตลอดจนคิดค้นเทคนิคและวิธีการทอที่สะดวกขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนได้นำไปสานต่อและสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พร้อมสืบสานภูมิปัญญาหัตถกรรมไทยให้คงอยู่สืบไป นายใจ๋คำ ตาปัญโญ หรือ "อุ้ยใจคำ" จังหวัดเชียงใหม่ พ่ออุ๊ยผู้สืบสานภูมิปัญญางานหัตถกรรมของเล่นไม้ล้านนา (ของเล่นโบราณ) ขอใช้เวลาที่ยังมีลมหายใจเหลืออยู่ทำงานตอบแทนแผ่นดิน ถ่ายทอดให้เด็กๆ ได้เรียนรู้งานของเล่นที่ปู่ย่าตายายทำด้วยภูมิปัญญามาแต่โบราณผ่านแนวคิดสั่งสอน สืบสาน ส่งเสริมกับโครงการ "อุ๊ยสอนหลาน" ให้คงอยู่สืบต่อไป นายกริ้ม สินธุรัตน์ งานหัตถกรรมผ้าทอเกาะยอ จังหวัดสงขลา ผู้เปรียบเสมือนตำนานแห่งผ้าทอเกาะยอมากว่า 73 ปี เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการทอผ้า และคิดลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของเกาะยอจน เป็นที่ขนานนามของคนในพื้นที่ และช่างทอผ้าเกาะยอทุกคน ยังเป็นผู้มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้งานทอผ้าต่อไปอย่างไม่คิดจะหยุด
สำหรับผู้ได้รับเชิดชูเป็น "ครูช่างศิลปหัตถกรรม" ในปี 2560 นี้มีจำนวน 9 คน กลุ่มครูช่างนี้นอกจากจะเป็นผู้ที่มีทักษะฝีมือเชิงช่างแล้ว ยังใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมเชื่อมโยงต่อยอดกับการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ด้วย ดังประกอบด้วย
นายกิจ คชรัตน์ งานตอกหนังตะลุง จังหวัดสงขลา เป็นผู้มีฝีมือการ "แกะรูปหนังตะลุง" ตัวละครที่ใช้ในการเชิด หรือแสดง "หนังตะลุง" ศิลปะการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของชาวใต้ ฝีมือการแกะหนังตะลุง ของครูกิจ เป็นที่ยอมรับในวงการหนังตะลุง โดยมีผลงานแกะหนังให้กับนายหนังศิลปินแห่งชาติ และนายหนังตลุงชื่อดังหลายคณะ นายปรีชา เพชรสุก งาน "เทริดโนห์รา-หน้าพราน" จังหวัดพัทลุง เป็นที่รู้จักและยอมรับว่า เป็นสุดยอดของผู้ที่มีฝีมือการทำ "หน้าพราน" ที่ได้สัดส่วน สวยงาม ถูกต้องตามตำราตามแบบฉบับของหน้าพราน เช่นเดียวกับฝีมือการทำ "เทริดโนราห์" ของครูปรีชา ที่ยังคงเอกลักษณ์ตามรูปแบบ ลวดลาย วัสดุ และกระบวนการทำตามภูมิปัญญาโบราณไว้อย่างไม่ผิดเพื้ยน จนเป็นที่ยอมรับของคณะแสดงมโนห์ราหลายคณะในจังหวัด ที่ล้วนแต่ต้องมาสั่ง เทริด และ หน้าพรานจากฝีมือครูปรีชา นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ผ้าปะลางิง จังหวัดยะลา เป็นผู้ที่มีส่วนรื้อฟื้น "ผ้าปะลางิง" ผ้าที่ใช้เทคนิคการพิมพ์ลายบนผืนผ้าด้วย "บล็อกไม้" ที่เคยสูญหายไปกว่า 70 ปี ให้กลับฟื้นคืนมาอีกครั้ง พัฒนา สร้างสรรค์ การผลิตผ้าปะลางิง ให้มีความก้าวทันยุคสมัย จนเป็นที่รู้จักในชื่อ "ศรียะลาบาติก" นายสมบัติ ชิดทิด แกะสลักไม้ จังหวัดเลย ผู้เสียสละ และทุ่มเท ทั้งชีวิตให้กับการดำรงไว้ซึ่งศิลปะและวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชน ผู้ถ่ายทอดสืบสานและปลุกพลังของชาวบ้านให้ร่วมเห็นคุณค่าการรักษาศิลปะแห่งล้านช้างที่เก่าแก่ ให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจสืบไป นายสมัคร สุขศรี ต้องลาย-ปานซอย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นผู้ที่มีฝีมือการต้องลาย-ปานซอย ที่ขึ้นชื่อในจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วยฝีมือการต้องลวดลายฉลุลงบนแผ่นโลหะที่มีความอ่อนช้อยที่หาผู้ใดเทียบได้ยากนัก ภาคภูมิใจกับการเป็นคนไทใหญ่ที่รักษาเอกลักษณ์ประจำชาติพันธุ์ ให้กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน นางสุเจนจิต ทองเสภี จักสานย่านลิเภา จังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้ทักษะ ฝีมือ สร้างสรรค์งานจักสานย่านลิเภาสืบทอดจากบรรพบุรุษ และพัฒนาปรับประยุกต์ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อสร้างให้งานจักสานย่านลิเภามีคุณค่าสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ครอบครองสมคุณค่า สมราคาของงานจักสานย่านลิเภา นายสุวรรณ สามสี แกะสลักช้างจิ๋ว จังหวัดเชียงราย เป็นผู้มีฝีมือการแกะสลักไม้ขนาด "จิ๋ว" ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนักสร้างสรรค์งานแกะสลักขนาดจิ๋วที่มีขนาดเล็กที่สุดเพียงครึ่งเซ็นติเมตรเท่านั้น เอกลักษณ์ผลงาน ที่โดดเด่นคือ การแกะสลักช้างจิ๋วที่มีลีลาความน่ารักหลายๆ ลีลา จนได้ฉายาว่า "ช้างจิ๋วร้อยแปดลีลา"
นายสว่าง เทพไชย ร้อยลูกปัดเครื่องแต่งกายมโนห์รา จังหวัดลงขลา เป็นครูมโนห์รารุ่นบรรพบุรุษที่สืบสานภูมิปัญญาวิธีการร้อยแบบโบราณดั้งเดิมด้วยการร้อยลูกปัดขนาดเล็กที่ละเม็ดๆ เป็นเครื่องแต่งกายมโนห์รา เป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับตำรับมโนห์รา นางเอือม แยบดี ผ้าทออีสานใต้ จังหวัดสุรินทร์ ครูแห่งงานทอผ้ามัดหมี่ สืบสานงาน และถ่ายทอดการทอผ้า เอกลักษณ์ของอีสานใต้ให้ชาวบ้านในหลายชุมชน มีอาชีพ มีรายได้ ประยุกต์ลวดลายผ้ายกดอกผสานงามมัดหมี่ให้ผ้าพื้นถิ่นได้อย่างวิจิตรงดงาม
SACICT ขอทำหน้าที่เผยแพร่เรื่องราว "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" และ "ครูช่างศิลปหัตถกรรม" ที่ได้รับการเชิดชูทั้ง 19 คนนี้ให้เป็นที่รู้จัก รับรู้ต่อสาธารณะชนในวงกว้าง เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การสร้างการรับรู้ เรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นแนวทางให้เกิดการนำองค์ความรู้จากภูมิปัญญาไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อยอด ผสมผสานผ่านการพัฒนาและสร้างสรรค์สู่ความร่วมสมัย และสมัยนิยมอันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสในเชิงพาณิชย์ต่อไป นางอัมพวัน กล่าว
*** ขอเชิญร่วมชื่นชมผลงาน และ พบปะพูดคุยเรื่องราว ประสบการณ์องค์ความรู้ หา แรงบันดาลใจ กับ 19 สุดยอด "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" และ "ครูช่างศิลปหัตถรรม" ปี 2560 ภายในงาน SACICT เพลิน Crafts ระหว่างวันที่ 31 ส.ค. – 3 ก.ย. ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ***