นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ให้ความรู้ทั่วประเทศครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นรอบที่ 2 เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามโครงการ National e-Payment และด้านประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายในทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้เปิดให้บริการพร้อมเพย์มาแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 และเริ่มขยายการติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่าเครื่องEDC แก่ร้านค้าและหน่วยงานภาครัฐตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้เริ่มมีการแจกโชคจากการใช้บัตรเดบิตไปแล้ว และจะมีการแจกต่อเนื่อง 12 ครั้ง ถึงเดือนเมษายน 2561
"ปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นการใช้บริการ e-Payment นอกจากบริการที่สถาบันการเงินและภาครัฐได้พัฒนาให้สามารถใช้งานได้สะดวก ปลอดภัย และมีค่าธรรมเนียมต่ำแล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจ และความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการ การจัดงานลงพื้นที่ให้ความรู้ในครั้งนี้ เรามุ่งหวังให้ผู้ที่เข้าร่วมงานสามารถไปให้ข้อมูลต่อได้ ได้แก่ ประชาชน หน่วยราชการ เจ้าของกิจการ และเจ้าหน้าที่ธนาคาร โดยให้เข้าถึงทุกภาคส่วน ทุกระดับ เพื่อชี้ให้เห็นประโยชน์ของการใช้ e-Payment ต่อประชาชน องค์กร และเศรษฐกิจโดยรวม"
สำหรับบริการพร้อมเพย์ มีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ เดือนสิงหาคม มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 32ล้านเลขหมาย และมียอดการโอนเงินสะสมกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนการวางเครื่อง EDC ได้มีการติดตั้งแล้วกว่า150,000 ร้านค้า
"จากการติดตามผลพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าบัตร ATM ที่ถืออยู่นั้นเป็นบัตรเดบิตด้วยในตัว สามารถใช้ซื้อสินค้าได้โดยตรง หากลองสังเกตบัตร ATM ที่มีอยู่ ถ้ามีข้อความว่าเป็น Debit Card หรือมีตราสัญลักษณ์ของผู้ให้บริการเครือข่ายบัตร ก็ใช้รูดซื้อของแทนเงินสดได้ ซึ่งภาครัฐได้อำนวยความสะดวกโดยร่วมกับสถาบันการเงินขยายการติดตั้งเครื่อง EDC ให้มากขึ้นทยอยไปทั่วประเทศ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่จะเปลี่ยนจากการใช้เงินสดมาเป็นการใช้บัตร ATM – เดบิตแทน โดยรัฐบาลได้จัดโครงการแจกโชคจากการใช้บัตรเดบิต ให้ทั้งผู้ใช้และร้านค้ามีสิทธิลุ้นโชคจากการชำระเงินผ่านเครื่อง EDC จำนวนกว่า 1,000 รางวัล และจะแจกรางวัลเป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. 60 รวมมูลค่ารางวัลเป็นเงิน 84 ล้านบาท
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนจากการใช้เงินสด มาเป็นการโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์หรือการใช้บัตรATM-เดบิตดังกล่าว ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งของยุทธศาสตร์ National e-Payment ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่การเป็น digital economy ต่อไป" นางสาวสิริธิดา กล่าวสรุป
การเดินสายให้ความรู้ครั้งนี้จะจัดขึ้นระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคมใน 7 จังหวัดใหญ่ทั่วประเทศ ได้แก่ ขอนแก่น และอุดรธานี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครศรีธรรมราช และสงขลา ในภาคใต้ ระยองในภาคตะวันออก และพิษณุโลกและเชียงใหม่สำหรับในภาคเหนือ