กระทรวงเกษตรฯ เปิดตัวโครงการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) หวังแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง พร้อมเพิ่มการใช้ยางในประเทศ ลดการส่งออกยางวัตถุดิบ เพื่อวางรากฐานให้อุตสาหกรรมยางพาราไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

08 Sep 2017
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา เปิดเผยว่า "ยางพารา" ถือเป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อที่ปลูกยางพาราประมาณ 22 ล้านไร่ และสามารถผลิตยางธรรมชาติได้ 4.4 ล้านตัน โดยผลผลิตดังกล่าว ได้สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางที่มีอยู่ประมาณ 1.6 ล้านครัวเรือน เป็นมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 200,000 คน และในแต่ละปี ยางธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ยาง สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 400,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยางพารามีปัญหาหลายประการ ได้แก่ ยางพาราเป็นสินค้าที่ต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยยางพาราที่ผลิตได้ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางจากโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเพียงแค่ ร้อยละ 14 เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 86 ถูกส่งออกในรูปของยางที่เป็นวัตถุดิบ และด้วยเหตุที่โครงสร้างตลาดยางพาราเป็นแบบผู้ซื้อน้อยราย ในขณะที่มีผู้ขายจำนวนมาก ส่งผลทำให้ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าผู้ขาย ในขณะเดียวกันราคายางพาราที่ซื้อขายกันในตลาดโลกยังถูกกำหนดจากตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งกว่าร้อยละ 90 เป็นการเก็งกำไร ส่งผลทำให้ราคายางพารามีความผันผวนค่อนข้างมาก

​นายเลิศวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากปัญหาเรื่องราคาตกต่ำแล้ว การผลิตยางพาราของไทยยังมีต้นทุนสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ส่งผลให้จำเป็นต้องตั้งราคาขายสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีพื้นที่สวนยางส่วนหนึ่งที่อยู่ในเขตป่าสงวน ทำให้ประเทศผู้ซื้อ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่นกำหนดมาตรการ กีดกันการค้าในรูปแบบของการออกมาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐาน FSC และ PEFC ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงจัดทำแผนยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างโดยเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศ พร้อมกับลดการส่งออกยางวัตถุดิบ เพื่อวางรากฐานให้อุตสาหกรรมยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบด้วย 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ 19 กลยุทธ์ย่อย โดยประเด็นยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประเด็นประกอบด้วย (1) การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง (2) การเพิ่มประสิทธิภาพ และการยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน (3) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (4) การพัฒนาตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย และ (5) การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ได้กำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ไว้เป็น 4 ระยะๆละ 5 ปี โดยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราในระยะ 1-5 ปีนั้นจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราในระยะ 6-10 ปีจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่วนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราในระยะ 11-15 ปีจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมและอุตสาหกรรม และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราในระยะ 16-20 ปี จะมุ่งเน้นไปที่การรันอินระบบให้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า "เป็นผู้นำของโลกในด้านการผลิตและการส่งออกยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา" โดย​ขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไป คือ การจัดทำประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ซึ่งได้กำหนดจัดขึ้นในวันอังคารที่ 12 กันยายน 2560 เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมกันตัง การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โดยหลังจากจัดทำประชาพิจารณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะทำงานฯ จะนำความคิดเห็นที่ได้ไปปรับปรุง "ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20ปี" ให้เป็น "ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี" ที่สมบูรณ์ ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา และกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ต่อไป​