สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน การส่งเสริมและสนับสนุนผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ กับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ ภายในงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560" โดย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลง โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ลงนามร่วมกับคุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและเศรษฐกิจ โดยการสร้างความรู้ใหม่ แนวทางใหม่ ทฤษฎีใหม่ หรือชิ้นงานใหม่ ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างฐานสติปัญญาในการพัฒนาให้กับประเทศได้ และหากนำไปสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้ก็จะก่อให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นทั้งอาจเป็นตัวเงิน หรือไม่เป็นตัวเงินโดยตรงก็ได้ ดังนั้นการพัฒนาให้ผลงานที่เกิดจากการวิจัย และการประดิษฐ์คิดค้นได้ถูกนำไปพัฒนาปรับปรุงให้นำไปสู่นวัตกรรมก็สามารถสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ (Economic Benefits) ขึ้นมาได้ ซึ่งนโยบายรัฐบาล นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำประเทศไปสู่ "ประเทศไทย 4.0"
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากความสำคัญในการพัฒนางานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมนั้น วช. ได้ให้การสนับสนุนและผลักดันให้ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้นสามารถนำไปพัฒนาให้เกิดการสร้างมูลค่า คุณค่าอันเป็นประโยชน์กับประเทศ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยและการพัฒนาต่อยอด การสนับสนุนการนำเสนอผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้นในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาปรากฏผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง และเพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศโดยใช้การวิจัย และนวัตกรรมโดยให้ความสำคัญกับการผลักดันการวิจัยที่มีอยู่ไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ในการผลักดันผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการดำเนินการ
ในระยะแรกภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการนำผลงานที่ได้รับรางวัลจากการเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีระดับนานาชาติ งาน "45th International Exhibiton of Inventions Geneva" ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส จำนวน 2 ผลงาน คือ ผลงานเรื่อง "ชุดควบคุมการติดตามดวงอาทิตย์ 2 แกน" จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผลงานเรื่อง "ระบบแจ้งเตือนการทำความสะอาดแผงโซล่าเซลล์ในโรงไฟฟ้าโซล่าฟาร์มเพื่อให้ประสิทธิภาพการจ่ายไฟฟ้าสูงสุด" จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มาเป็นโครงการนำร่องในการดำเนินการ
ความสำเร็จของ 2 ผลงานนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการผลักดันและยกระดับให้ผลผลิตจากผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ต่อไป
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit