นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินงาน "โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน" วงเงินงบประมาณ 22,752.50 ล้านบาท ในพื้นที่ 9,101 ชุมชนทั่วประเทศ (ชุมชนละ 2.5 ล้านบาท)
หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหลัก มีเกษตรตำบลและเกษตรอำเภอร่วมกับชุมชนเพื่อให้งบประมาณได้ลงไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง ถูกต้อง และเป็นธรรมที่สุด ซึ่งตั้งแต่เริ่มดำเนินงานโครงการถึงปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมากโดยผลการดำเนินงาน(ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2560) ชุมชนทั้ง 9,101 ชุมชน ได้เสนอโครงการจำนวน 24,760 โครงการ วงเงิน 20,054.62 ล้านบาท
ทางคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ พิจารณาและอนุมัติโครงการแล้ว จำนวน 24,168 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 19,867.20 ล้านบาท หรือร้อยละ 99.07 จากวงเงินที่ชุมชนเสนอซึ่งกองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ (CBO) สำนักงบประมาณ 18 แห่ง ให้ความเห็นชอบแล้วทุกโครงการและโอนเงินงบประมาณลงถึงชุมชนแล้วทุกโครงการ
ชุมชนได้เบิกจ่ายงบประมาณแล้ว จำนวน 18,924.98 ล้านบาทหรือร้อยละ 95.26 ของวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ แบ่งเป็นค่าวัสดุและอุปกรณ์ 9,793.93 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.16 ของงบประมาณค่าวัสดุและอุปกรณ์ทั้งหมด (9,877.24 ล้านบาท) และค่าจ้างแรงงาน9,131.05 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 91.40 ของงบประมาณค่าจ้างแรงงานทั้งหมด (9,989.96 ล้านบาท) เฉลี่ยค่าจ้างที่ได้รับ 2,650 บาท/คน
ชุมชนต่างๆ ได้ดำเนินกิจกรรมแล้วเสร็จมากกว่าร้อยละ 75 ของแผนและคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณตามแผนที่กำหนดไว้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2560 ซึ่งโครงการ มีกิจกรรมหลักที่ชุมชนได้เสนอตามความต้องการในหลายประเภท จำแนกเป็นด้านต่างๆ ตามสัดส่วน คือ
1) ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ร้อยละ 35.19 จำนวน 8,505 โครงการ งบประมาณ 10,572.39 ล้านบาท เช่น การทำปุ๋ยหมัก จากมูลสัตว์ วัชพืช หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การทำน้ำหมักชีวภาพ (เช่น ชุมชนในอำเภอเมืองจังหวัดนครพนม , อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์) ทั้งนี้ คาดว่าชุมชนที่ทำปุ๋ยจะมีเงินจากการจำหน่ายปุ๋ยประมาณ 3-5 แสนบาท/ชุมชน
2) ด้านการผลิตพืชและพันธุ์พืช ร้อยละ 20.87 จำนวน 5,043 โครงการ งบประมาณ 3,157.92 ล้านบาท เช่น การปลูกพืชตระกูลถั่ว พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ เพาะเห็ด หรือทำเกษตรผสมผสาน
3) ด้านปศุสัตว์ ร้อยละ 14.37 จำนวน 3,474 โครงการ งบประมาณ 2,044.07 ล้านบาท กิจกรรม เช่น การไก่พื้นเมือง เพาะเนื้อ หมูหลุม และ เลี้ยงไก่ไข่ (เช่น ชุมชนเลี้ยงไก่ไข่ ตำบลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเลย ทั้งนี้ คาดว่าชุมชนที่จำหน่ายไข่ไก่ จะมีเงินจากการจำหน่ายประมาณ 6-8 แสนบาท/ชุมชน)
4) ด้านการผลิตอาหาร การแปรรูปผลผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ร้อยละ 12 จำนวน 2,900 โครงการ งบประมาณ 1,221.43 ล้านบาท เช่น แปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารกล้อง กล้วยตาก ผลิตพริกแกง
5) ด้านประมง ร้อยละ 10.74 จำนวน 2,596 โครงการ งบประมาณ 1,387.27 ล้านบาท เช่น การเลี้ยงปลาดุก การลี้ยงปลานิล การเลี้ยงกบ ในบ่อดิน/ในกระชัง
6) ด้านฟาร์มชุมชน ร้อยละ 3.95 จำนวน 954 โครงการ งบประมาณ 1,007.15 ล้านบาท
7) ด้านการจัดการศัตรูพืช ร้อยละ 1.83 จำนวน 442 โครงการ งบประมาณ 231.51 ล้านบาท เช่น การทำเชื้อราไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรีย และราเมตาไรเซียม (เช่น อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์)
8) ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน ร้อยละ 0.88 จำนวน 212 โครงการ งบประมาณ 225.98 ล้านบาท เช่น การปลูกปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า
9) ด้านการเกษตรอื่นๆ ร้อยละ 0.17 จำนวน 42 โครงการ งบประมาณ 16.40 ล้านบาท เช่น การทำตลาดสินค้าเกษตรชุมชน การเลี้ยงโค
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในชุมชนทั่วประเทศ ประมาณ 17,000 ล้านบาท และต่อยอดในกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป ซึ่งขณะนี้ มีกองทุนที่เกิดขึ้นอย่างน้อยใน8,828ชุมชน (ร้อยละ 97 ที่จะบริหารโครงการให้เกิดรายได้หมุนเวียน)จากโครงการนี้แล้วสศก. ได้ติดตามความก้าวหน้าในพื้นที่ระหว่างดำเนินงานในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาของชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่า เกษตรกร ร้อยละ 98.76 รับทราบว่าชุมชนได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินโครงการ ซึ่งเกษตรกรร้อยละ 90.07 ได้มีส่วนร่วมในเวทีชุมชนเพื่อจัดทำโครงการด้วย
ด้านโครงการของชุมชน ร้อยละ 61.11 เป็นโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ ร้อยละ 35.32 เป็นโครงการที่ต่อยอดจากกิจกรรมที่ชุมชนทำอยู่ประจำ และร้อยละ 3.57 เป็นโครงการปรับปรุงฟื้นฟูโครงการที่ชุมชนได้เคยทำในอดีต ส่วนแรงงานของโครงการ ร้อยละ 98.05 เป็นแรงงานภายในชุมชนทั้งหมด ร้อยละ 1.95 มีการใช้แรงงานจากชุมชนข้างเคียง โดยมีอายุเฉลี่ยของแรงงานอยู่ที่ 51 ปี
แหล่งที่มาของวัสดุและอุปกรณ์ ร้อยละ 45.27 จัดหาจากภายในชุมชนเป็นหลัก ร้อยละ 36.32 จัดหาจากนอกชุมชนแต่ยังอยู่ภายในจังหวัด และร้อยละ 18.41 จัดหาจากนอกจังหวัด เช่น เครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์เฉพาะ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ที่ไม่มีแหล่งจำหน่ายภายในจังหวัด ทั้งนี้ โครงการของชุมชนจะเน้นการจ้างแรงงานเกษตรกรที่มีรายได้น้อย เน้นการใช้จ่ายวัสดุจากในชุมชนเป็นหลัก เน้นให้มีกิจกรรมที่เกิดผลประโยชน์ต่อเนื่องต่อชุมชน และให้เกษตรกรได้ตื่นตัวที่จะพัฒนาการเกษตรของชุมชน
ภาพรวมเกษตรกร ร้อยละ 96.12 พึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุดต่อโครงการในภาพรวม ส่วนที่เหลือร้อยละ 3.88 พึงพอใจปานกลางและน้อย อย่างไรก็ตามเกษตรกรมีความเห็นว่า ช่วงเวลาในการให้ชุมชนเสนอโครงการนั้นสั้นเกินไป จึงทำให้ยังขาดรายละเอียดหรือความครบถ้วนของโครงการ และช่วงเวลาปฏิบัติงานโครงการอยู่ในฤดูฝนกระทบการทำกิจกรรมบางอย่างไม่สามารถทำได้ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สศก. มีแผนที่จะลงพื้นที่อีกครั้ง ช่วงระหว่างวันที่ 11 – 25 กันยายน 2560 เพื่อประเมินผลด้านบริหารจัดการโครงการของชุมชน ผลลัพธ์ และผลประโยชน์ที่ชุมชนต่างๆ จะได้รับต่อเนื่อง รวมทั้งประเด็นด้านความยั่งยืนของโครงการ และจะรายงานผลให้ทราบในระยะต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit