สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดกิจกรรมสัมมนาสรุปผลการดำเนินโครงการพัฒนาสิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดอาเซียน ภายใต้แนวคิด "ASEAN GATEWAY : Co-design for Textile Fashion" วันที่ 31 สิงหาคม 2560 ณ ห้องคริสตัลหาดใหญ่แกรนด์บอลรูม โรงแรมคริสตัลหาดใหญ่
ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดอาเซียน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนปี 2560 จากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม วัตถุประสงค์ของการสัมมนา เพื่อสรุปผลและเผยแพร่การดำเนินงานของโครงการดังกล่าวซึ่งประกอบไปด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ ได้แก่ 1) การศึกษาข้อมูลการตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 2) การถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ 3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอใหม่สู่เชิงพาณิชย์ 4) การเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน+3
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอดำเนินกิจกรรมต่างๆ ใน 5 จังหวัด คือ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เน้นการพัฒนาที่สำคัญ 4 ด้านเข้าด้วยกัน คือ สวย ดี มีคุณภาพ และเป็นสากล โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในปีนี้สถาบันฯ ได้ศึกษาข้อมูลการตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยสำรวจตลาดสิ่งทอเชิงลึก ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และประเทศญี่ปุ่น ใช้ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ตลาดเข้ามาช่วยเพื่อให้ผู้ประกอบการสิ่งทอและผู้ประกอบการเครื่องแต่งกายมุสลิม พัฒนาและผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และสามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชิญนักออกแบบระดับประเทศของไทย นักออกแบบจากประเทศมาเลเซีย มาร่วมสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ร่วมกับผู้ประกอบการ พัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 50 ผลิตภัณฑ์ และได้นำไปจัดแสดงและจำหน่าย ณ เมืองจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย และเตรียมการออกงานแสดงสินค้า ที่ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกันยายน นี้อีกด้วย นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายด้านการออกแบบแล้ว สถาบันฯ ยังเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ด้วยการนำเทคโนโลยีตกแต่งสำเร็จ อาทิ เทคโนโลยีสะท้อนน้ำ การทำนุ่ม กันยับ แอนตี้แบคทีเรีย และการเลือกใช้วัสดุใหม่ อาทิ ผ้าเรยอนผสมคอลลาเจน ในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ อีกด้วย
นอกจากนี้ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการจำนวน 370 ราย โดยเน้นการอบรมเชิงปฏิบัติการที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
ทั้งนี้การดำเนินโครงการมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ในการเพิ่มโอกาสในการจ้างงานที่มั่นคงในท้องถิ่น และสร้างรายได้ ก่อให้เกิดเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านการพัฒนาต่อยอดการประกอบอาชีพให้กับกลุ่มผู้ประกอบการสิ่งทอและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งส่งผลให้เกิดความสามัคคีและความเข้มแข็งของคนในชุมชนผลจากการเข้าร่วมโครงการทำให้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน เป็นอาชีพเสริมให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15-20 ดร.ชาญชัย กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit