นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีประชากรผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 15 ของประชากร ซึ่งจากการคาดประมาณของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Completed aged society) โดยมีประชากรผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และในวันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ก็จะมีผู้ที่เกษียณอายุราชการอีกจำนวนหนึ่ง การเตรียมความพร้อมในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ
กรม สบส. โดยกองสุขศึกษา ในฐานะองค์กรหลักในการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพดี ห่างไกลจากโรคภัย จึงขอแนะให้ทั้งผู้สูงอายุและครอบครัวได้นำหลักปฏิบัติของสุขบัญญัติ 10 ประการ มาเป็นกุญแจสำคัญในการนำทางท่านไปสู่เส้นทางในการสร้างสุขภาพกาย สุขภาพใจให้แข็งแรง เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ได้สร้างคุณประโยชน์แก่ครอบครัว ชุมชนและสังคมมาโดยตลอด ดำรงตนเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีงามแก่ลูกหลานสืบต่อไป
นายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวต่อว่า สุขบัญญัติ 10 ประการนั้น เป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้เกิดสุขภาพ ดี ทั้งร่างกาย จิตใจ สร้างภูมิต้านทานโรค ไม่ให้เจ็บป่วย ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ในคนทุกวัย สำหรับแนวทางการปฏิบัติในผู้สูงอายุ มีดังนี้ 1)รักษาความสะอาดร่างกาย/สิ่งของ : ผู้สูงอายุมักจะมีผิวแห้ง การอาบน้ำควรใช้สบู่สำหรับเด็กที่ไม่ระคายผิว ทาครีมบำรุงไม่ให้ผิวแห้ง คัน สระผมเป็นประจำ การดูแลสีของเส้นผมถ้าจำเป็นให้ใช้น้ำยาย้อมผมที่ทำจากสมุนไพร หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีซึ่งจะซึมผ่านเข้าชั้นผิวหนังไปถึงเส้นเลือดฝอยแล้วไปสะสมที่ตับ เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยได้ ดูแลสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องนอน ให้สะอาด เป็นระเบียบ ไม่เป็นที่สะสมของเชื้อโรค จัดห้องนอนให้มีอากาศถ่ายเท เงียบสงบ จะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น 2)รักษาอนามัยในช่องปาก : แปรงฟันทุกวัน ดูแลความสะอาดช่องปาก ผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอม ควรถอดฟันมาทำความสะอาด ก่อนนอนให้ถอดฟันปลอมแช่น้ำเพื่อไม่ให้ฟันปลอมแห้งแตกและเพื่อให้เหงือกได้พักผ่อน หากฟันปลอมบิ่น แตก หัก หลวมหรือทำให้ระคายเคืองเหงือกและเนื้อเยื่อในช่องปาก ให้พบทันตแพทย์แก้ไข หากทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดมะเร็งในช่องปากได้ ที่สำคัญต้องรับการตรวจ รักษา ดูแลสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์จากสถานบริการที่มีใบอนุญาตเท่านั้น 3) ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ : เพราะมือเป็นอวัยวะสำคัญที่นำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ผู้สูงอายุมีภูมิต้านทานโรคน้อยลง ดังนั้นจึงควรล้างมือให้เป็นนิสัย โดยเฉพาะ ก่อน-หลัง เตรียม/ปรุงและรับประทานอาหาร และหลังใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม 4) เลือกสรรอาหารที่เสริม พลังกาย : ผู้สูงอายุมีความต้องการปริมาณอาหารลดน้อยลงเนื่องจากร่างกายมีการเคลื่อนไหวน้อยลง บางคนอาจเบื่ออาหาร แต่ความต้องการสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นยังคงเดิม การจัดอาหารให้ผู้สูงอายุจึงควรมีปริมาณสารอาหารและคุณค่าโภชนาการเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย อาจทานปริมาณน้อยลงแต่เพิ่มจำนวนมื้ออาหารได้ ทานอาหารประเภทที่นุ่มมีน้ำเป็นส่วนผสมเพื่อช่วยหล่อลื่นหลอดอาหารทำให้กลืนได้สะดวก ทานอาหารที่มีเส้นใย/กากใยอาหารเป็นประจำเช่นข้าวกล้อง ผัก ช่วยให้ขับถ่ายสะดวก ลดความเสี่ยงมะเร็งในลำไส้ และช่วยลดไขมันเลือด ทานอาหารพวกไขมันแต่พอควร ทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย ไม่ทานอาหารเค็ม 5) รู้เท่าทันอบายมุข : บุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน การสำส่อนทางเพศ ล้วนเป็นอบายมุขที่นำความเลวร้ายมาสู่ชีวิตและสุขภาพ ผู้สูงอายุควรรู้และเข้าใจโทษภัยของอบายมุข ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในการไม่ยุ่งเกี่ยวและถ่ายทอดให้ลูกหลานรู้เท่าทันอย่างชาญฉลาด และแนะนำวิธีการปฏิเสธอบายมุขทั้งปวงเพื่อให้ลูกหลานเป็นคนดีมีคุณภาพของครอบครัวและสังคม
6) สร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวให้อบอุ่น : ในฐานะผู้สูงอายุหรือ ปู่ ย่า ตา ยาย ในครอบครัว ท่านสามารถช่วยสร้างสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในครอบครัว โดยการทำกิจกรรมร่วมกัน ให้คำแนะนำ ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตให้ลูกหลานเป็นข้อคิดในการดำเนินชีวิต 7) ระมัดระวังอุบัติเหตุด้วยความไม่ประมาท : เมื่ออายุมากขึ้นความว่องไว ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ลดลง อุบัติเหตุมักเกิดขึ้นได้ง่าย ทั้งผู้สูงอายุเองและสมาชิกในครอบครัวจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น ในบ้าน ขณะเปลี่ยนอิริยาบถทุกครั้งให้ค่อยๆ เปลี่ยนท่า เช่น จากนอนไปนั่ง และลุกยืน ป้องกันเลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทันจะทำให้หน้ามืดเป็นลมล้มลงได้ การขึ้นลงบันไดไม่ควรถือของมากและจับราวบันไดทุกครั้ง ไม่วางสิ่งของเกะกะ มีน้ำเปียก บนพื้นบ้าน บันได บริเวณที่ผู้สูงอายุต้องเดินผ่าน ในบ้านมีแสงสว่างเพียงพอ ทำความสะอาดพื้นห้องน้ำไม่ให้มีคราบสบู่หรือแชมพูซึ่งทำให้ลื่นล้ม เมื่อออกนอกบ้าน ให้สวมรองเท้าหุ้มส้น/รัดส้นที่พอดีกับเท้า หรืออาจใช้ไม้เท้าช่วยทรงตัวในการเดินป้องกันการล้ม 8) เคลื่อนไหว ออกกำลังกาย และต้องตรวจสุขภาพ ทุกปี : ผู้สูงอายุควรมีการเคลื่อนไหวออกแรงในชีวิตประจำวัน ร่วมกับการออกกำลังกายตามความเหมาะสมกับแต่ละบุคคล การออกกำลังกายในผู้สูงอายุจะช่วยเพิ่มสมรรถนะของกล้ามเนื้อและกระดูก ช่วยในการทรงตัว ช่วยควบคุมน้ำหนัก เพิ่มออกซิเจนในร่างกาย ทำให้สดชื่นแจ่มใส ซึ่งสามารถเลือกกิจกรรมได้ เช่น การเดินหรือวิ่งช้าๆ กายบริหารท่าต่างๆ หรือการขี่จักรยาน แต่หากมีข้อเท้าหรือเข่าไม่ดีก็สามารถออกกำลังกายโดยวิธีการเดินในน้ำแทนได้ ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกกิจกรรมการออกกำลังกาย และควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี 9) มีจิตใจ ร่าเริง แจ่มใส : จิตใจที่แจ่มใส คิดดี ทำดี จะทำให้มีความสุข ผู้สูงอายุควรยึดหลักความเรียบง่าย การให้อภัย มองโลกในแง่ดี การช่วยเหลือผู้อื่นจะทำให้รู้สึกเป็นสุขใจ ผู้สูงอายุที่มีอาการนอนไม่หลับ การสวดมนต์ ทำสมาธิ หลีกเลี่ยงนอนหลับในเวลากลางวัน งดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก็จะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ลูกหลานควรดูแล หมั่นเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุเสมอไม่ให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมนอกบ้านบ้างหรือมีเพื่อนคุยจะช่วยให้สดชื่นไม่เหงา ไม่เป็นโรคซึมเศร้า 10) เป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์สังคม : ผู้สูงอายุสามารถเป็นบุคคลต้นแบบที่ดียิ่งในการสร้างสรรค์สังคม เนื่องด้วยเป็นบุคคลที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากมาย ควรเป็นผู้สูงอายุที่สร้างคุณค่าให้ตัวเองด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกหลานในกิจกรรมต่างๆ เช่น การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การแยกขยะ การมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคในบ้าน ในชุมชน เช่น กำจัดลูกน้ำยุงลาย กำจัดสิ่งปฏิกูลในบ้านอย่างถูกวิธี การปฏิบัติตามกฎ กติกา ของสังคม การไปใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต่างๆ ทั้งนี้จะช่วยให้สังคมน่าอยู่ ทุกคนในสังคมจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้จิตใจแจ่มใส ร่างกายแข็งแรง
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถหาความรู้ด้านสุขบัญญัติสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มเติมได้จาก สุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ สร้างสุขผู้สูงวัย โดยดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์กองสุขศึกษา (www.hed.go.th) และสาระความรู้ด้านสุขภาพสำหรับประชาชน ได้ที่ คลังความรู้สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (healthydee.moph.go.th)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit