ปภ.รายงานสถานการณ์น้ำไหลหลากจากอิทธิพลพายุ “ทกซูรี” ใน 12 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 5 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 7 จังหวัด พร้อมบูรณาการรับมือภาวะฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง

18 Sep 2017
กระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีพื้นที่เกิดสถานการณ์น้ำไหลหลากจากอิทธิพล พายุ "ทกซูรี" ใน 12 จังหวัด รวม 34 อำเภอ 90 ตำบล 320 หมู่บ้าน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 5 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 7 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เชียงราย ลำปาง และสตูล รวม 20 อำเภอ 55 ตำบล 247 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น พร้อมเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากภาวะฝนตกหนักอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม รวมถึงสนับสนุนการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุ "ทกซูรี" ตั้งแต่วันที่ 15 – 17 กันยายน 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ สกลนคร เลย แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สตูล พังงา เชียงราย ลำปาง และชัยภูมิ รวม 34 อำเภอ 90 ตำบล 320 หมู่บ้าน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 5 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 7 จังหวัด รวม 20 อำเภอ 55 ตำบล 247 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสมเด็จ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอหนองกุงศรี อำเภอห้วยผึ้ง อำเภอนามน อำเภอห้วยเม็ก และอำเภอนาคู รวม 13 ตำบล 13 หมู่บ้าน ชัยภูมิ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเมืองชัยภูมิ รวม 3 ตำบล 3 หมู่บ้าน ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอพรหมพิราม อำเภอชาติตระการ อำเภอวังทอง และอำเภอเนินมะปราง รวม 21 ตำบล 138 หมู่บ้าน เพชรบูรณ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอหล่มสักรวม 7 ตำบล 43 หมู่บ้าน เชียงราย น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่จัน รวม 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน ลำปาง น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอสบปราบ รวม 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ สตูล น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสตูล อำเภอละงู และอำเภอมะนัง รวม 7 ตำบล 39 หมู่บ้าน ซึ่งสถานการณ์ในภาพรวมอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย พร้อมนำเรือและรถขนย้ายให้บริการและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงจัดรถผลิตน้ำดื่มและรถไฟฟ้าส่องสว่างให้บริการแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง โดย ปภ. ได้กำชับให้หน่วยปฏิบัติให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเต็มกำลัง มุ่งเน้นการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของผู้ประสบภัยเป็นหลัก พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงยังคงปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน ส่งผลให้ภาคเหนือยังคงมีฝนตกชุกกับฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนลดลง สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกชุกหนาแน่นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทั้งนี้ ปภ.ได้เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนัก โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะที่ลุ่มต่ำ ริมลำน้ำ ที่ลาดเชิงเขา ริมชายฝั่งทะเล และพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง พร้อมปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป