สำหรับราคา ทางผู้ประกอบการยินดีจ่ายเพิ่มให้ในราคาตันละ 500 บาท สำหรับข้าวในระยะ 2 ปีแรกที่อยู่ในระยะเตรียมความพร้อมและปรับเปลี่ยนเป็นข้าวอินทรีย์ และในปีที่สาม จะจ่ายเพิ่ม 2,000 บาท สำหรับข้าวที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand
"เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ได้วางแผนว่า จะแบ่งผลผลิตเผื่อไว้บริโภค ทำพันธุ์ และขายให้กับผู้ประกอบการค้าข้าว โดยกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมหารือยินดีที่สามารถขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้นและมีผู้รับซื้อแน่นอน ส่วนผู้ประกอบการก็รู้สึกพอใจที่รัฐมีโครงการเชื่อมโยงผลผลิตข้าวคุณภาพผ่านการรับรองของรัฐเข้าสู่โรงสี โดยไม่ต้องออกแรงไปหาเอง นอกจากนี้ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรยังได้ซักถามคำถามเกี่ยวกับการผลิตข้าวอินทรีย์ในหลายประเด็น อาทิ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การแก้ไขปัญหาดินเค็ม เป็นต้น จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน และสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ประสานงานร่วมกันในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่กลุ่มเกษตรกรต่อไป" นางสาวชุติมา กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการทำนาอินทรีย์ยังได้เชิญชวนให้เกษตรกรกลุ่มอื่นๆหันมาปลูกข้าวอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นโดยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทำนาอินทรีย์ซึ่งถ่ายทอดมาจากประสบการณ์จริงในการทำอินทรีย์ เช่น การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลวัวหรือมูลไก่ที่เลี้ยงเองแบบอินทรีย์ ทำให้มั่นใจได้ว่า ปุ๋ยที่ได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์อย่างแท้จริงและยังสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย ถึงแม้ปริมาณผลผลิตที่ได้อาจจะลดลงในระยะแรกหลังปรับเปลี่ยนมาทำอินทรีย์ แต่ปริมาณจะค่อยๆเพิ่มขึ้น โรคและแมลงก็ไม่มาก เนื่องจากหลังทำนาอินทรีย์ ระบบนิเวศน์จะฟื้นคืนกลับมา ธรรมชาติจะเกื้อกูลและดูแลกันเอง ต้นข้าวจะแข็งแรง นอกจากนี้ ถึงปริมาณข้าวจะลดลง แต่จะได้ข้าวอินทรีย์ที่มีคุณภาพ ข้าวจะนุ่มและมีความหอมมากขึ้น ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จึงสามารถขายได้ในราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป
นางสาวชุติมา ได้ให้กำลังใจเกษตรกรให้มุ่งมั่นในการทำนาอินทรีย์ต่อไป เพื่อยกระดับการผลิตข้าวของประเทศไทยสู่ข้าวคุณภาพอย่างยั่งยืน