คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เผยการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ต้องเลิกมุ่งเน้นแต่ด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสามารถผลิตวิทยาศาสตร์บัณฑิต ที่สามารถ "คิดแบบผู้ประกอบการ" สามารถประยุกต์องค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ และ "คิดเป็นผู้ประกอบการ" สามารถสร้างธุรกิจจากองค์ความรู้ ต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมกันนี้ ในปีการศึกษา 2561 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ได้ทำการปรับหลักสูตรครั้งใหญ่สู่ "วิทยาศาสตร์-ธุรกิจ" (SCI + BUSINESS) อย่างเป็นทางการ ผ่านการปรับ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. เน้นการใช้โครงงานเป็นพื้นฐาน (Project based learning) กำหนดให้นักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป พัฒนาโครงงานวิทยาศาสตร์ที่สามารถประยุกต์องค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคม และสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ 2. เพิ่มรายวิชาด้านการบริหารธุรกิจบรรจุรายวิชาด้านการบริหารธุรกิจจากคณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี เข้ามาเป็นรายวิชาบังคับพื้นฐาน ในชั้นปีที่ 3 เพื่อให้ผู้เรียนได้มีพื้นฐานความคิดทางด้านธุรกิจ 3. ปรับการเรียนวิชาแกน 30% เป็นภาษาอังกฤษ การเรียนการสอนวิชาแกนเป็นภาษาอังกฤษ ในอัตราส่วน 30 ของหลักสูตรภาษาไทย เพื่อเตรียมความพร้อมการทำงานในระดับสากล
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-564- 4440-59 ต่อ 2010 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sci.ac.th
รศ.ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า จากนโยบายการบริหารประเทศ และโจทย์ของทางรัฐบาลที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่เพียบพร้อมด้วยสินค้าและบริการที่มาพร้อมนวัตกรรมแปลกใหม่ สามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประกอบกับแนวโน้มการเติบโตของจำนวนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยในปัจจุบัน ที่มีจำนวนมากกว่า 8,000 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วง 2 – 3 ปีก่อนถึงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ภาคการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องตื่นตัวกับกระแสดังกล่าว เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะกับโจทย์ไทยแลนด์ 4.0เพราะเป็นสายวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการคิดค้นนวัตกรรม เนื่องจากตามหลักกระบวนการที่ถูกต้องในการทำงานแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะเป็นคนเริ่มตั้งสมมติฐานและคำนวณถึงความเป็นไปได้ก่อน จากนั้นวิศวกรจึงเป็นคนรับแนวคิดดังกล่าวมาพัฒนาต่อ
รศ.ปกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และได้ทำการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สู่หลักสูตร "วิทย์-บริหารธุรกิจ" หลักสูตรผสมผสาน SCI+BUSINESS แห่งแรกแห่งเดียวของประเทศไทยรับปีการศึกษาใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อเป็นการปรับลุคบัณฑิตวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ในยุคไทยแลนด์4.0 ให้สามารถ "คิดแบบผู้ประกอบการ" สามารถประยุกต์องค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ และ "คิดเป็นผู้ประกอบการ" สามารถสร้างธุรกิจจากองค์ความรู้ ต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีรายละเอียดการปรับปรุงหลักสูตรแบ่งเป็น 3หัวข้อ ดังนี้
1. เน้นการใช้โครงงานเป็นพื้นฐาน (Project based learning) เปิดโลกทัศน์และส่งเสริมการเรียนรู้ที่สมดุลระหว่างภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยในทุกหลักสูตรจะกำหนดให้นักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป พัฒนาโครงงานวิทยาศาสตร์ที่สามารถประยุกต์องค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคม และสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ โดยมีคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา
2. เพิ่มรายวิชาด้านการบริหารธุรกิจ โดยตั้งแต่ปี 2561 จะบรรจุรายวิชาด้านการบริหารธุรกิจ อย่าง "วิชาการประกอบการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" (Entrepreneurship in Science and Technology) จำนวน 3 หน่วยกิต เข้ามาเป็นรายวิชาบังคับพื้นฐานสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 เพื่อให้ผู้เรียนได้มีพื้นฐานความคิดทางด้านธุรกิจ ซึ่งจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มเติมรายวิชาสู่หลักสูตรมากขึ้นตามความเหมาะสมในปีการศึกษาต่อไป นอกจากนี้ ผู้เรียนยังสามารถเลือกรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับด้านบริหารธุรกิจจากคณะอื่นภายในมหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาเพิ่มเติมเป็นรายวิชาเลือกเสรี
3. ปรับการเรียนวิชาแกน 30% เป็นภาษาอังกฤษ โดยจะมีการเรียนการสอนวิชาแกนเป็นภาษาอังกฤษ ในอัตราส่วน 30 ของหลักสูตรภาษาไทย เพื่อฝึกทักษะทางด้านภาษาแก่ผู้เรียน อีกทั้งเตรียมความพร้อมสู่โลกแห่งการทำงานจริงแบบนานาชาติ และการนำเสนอแผนงานธุรกิจ (pitching) ในเวทีต่างประเทศได้อย่างมีศักยภาพ
รศ.ปกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ระดับอุดมศึกษาในปัจจุบัน ส่วนมากยังคงมุ่งเน้นการเรียนการสอนที่เน้นภาคทฤษฎี ตลอดจนการสร้างสรรค์งานวิจัยที่เน้นไปที่หลักวิชาการ ซึ่งไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ฉะนั้นแล้วภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องปรับตัว พิจารณาปรับปรุงหลักสูตร และแนวทางการเรียนการสอน สามารถผลิตนักศึกษามีองค์ความรู้และกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญคือ สามารถประยุกต์องค์ความรู้ดังกล่าวเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้จริงในสังคม ประกอบกับทางภาครัฐบาลควรให้การสนับสนุน ผลักดันการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ เปิดเส้นทางสายอาชีพที่รองรับบัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อผลิตทรัพยากรด้านมนุษย์ให้พร้อม และให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-564- 4440-59 ต่อ 2010 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sci.ac.th