นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "แนวทางการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนโดยใช้กลไกศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน" ระหว่างวันที่ 4 -5 กันยายน 2560ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศ รวมถึงระดมความคิดเห็น เรื่อง การใช้ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านเป็นกลไกการขับเคลื่อนเกษตรกรรม ให้เกิดการขยายผลเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วย ผู้แทนจากศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรฯ
ทั้งนี้ จากแผนพัฒนาการเกษตร ฯ ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาสู่การเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน ไว้ 5,00,000 ไร่ ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยจะให้การสนับสนุนในทุกมิติ ที่จะทำให้เกิดการขยายผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากเดิมไปสู่ระบบการผลิตตามแนวทางของเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรทฤษฎีใหม่ และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนให้บรรลุเป้าหมาย อาจสำเร็จลุล่วงไปได้ยาก หากขาดกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ซึ่งก็คือปราชญ์ชาวบ้าน รวมทั้งเกษตรกรรุ่นใหม่ๆ เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และภาคประชาสังคมอีกหลายภาคส่วน ที่ต่างมีบทบาทสำคัญช่วยเสริมสร้างให้เกิดพลังการทำงานที่ขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสภาพพื้นที่
โครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ "โครงการพัฒนาศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน" ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน โดยอยู่ภายใต้หลักคิดของการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้แก่เกษตรกร โดยให้ปราชญ์ชาวบ้าน ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวคิด ภูมิปัญญาและประสบการณ์เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิด และชี้แนะให้เกษตรกรสามารถค้นหาปัญหาของตนเอง รู้สาเหตุที่แท้จริงของปัญหา รวมทั้งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น จนหลุดพ้นจากความยากจน และพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยมีศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านเข้าร่วมโครงการอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ จำนวน 236 ศูนย์ ฝึกอบรมเกษตรกรแล้วจำนวน 338,261 ราย ซี่งจากการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่าศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรให้พึ่งตนเอง และพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้
"การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เกี่ยวกับบทบาทและแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนของแต่ละภาคส่วน ทั้งปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน เกษตรกรรุ่นใหม่ ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน ภาควิชาการ รวมถึงองค์การมหาชน ซึ่งจะมีการระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในระดับพื้นที่ เพื่อนำความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มากำหนดแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง สามารถขับเคลื่อนงานเกษตรกรรมยั่งยืน ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมบรรลุเป้าหมายการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับภาคเกษตรได้อย่างแท้จริง" นายระพีภัทร์ กล่าว
สำหรับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "แนวทางการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนโดยใช้กลไกศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน" ในครั้งนี้ ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ เรื่อง "บทบาทของปราชญ์ชาวบ้านกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยุค 4.0" และการอภิปรายในเรื่องต่างๆ อาทิ การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในประชาคมโลก ประชาคมอาเซียน และทิศทางของประเทศไทย, บทบาทเครือข่ายภาครัฐ - ประชาสังคมในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน, การขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนจากฐานรากโดยใช้กลไกเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและประชาสังคม นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง การหมุนเวียนธาตุอาหารจากการให้บริการของระบบนิเวศนาข้าวในระบบเกษตรอินทรีย์" และการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นเพื่อนำมากำหนดแนวทางการดำเนินงานพัฒนาเกษตรกรรมในระดับพื้นที่ต่อไป