ฟิทช์: เศรษฐกิจและธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายแม้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว

15 Sep 2017
ฟิทช์ เรทติ้ง มองว่า แม้ว่าเศรษฐกิจปี 2560 ได้เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากสัดส่วนหนี้สินภาคครัวที่อยู่ในระดับสูงและผลกระทบเชิงลบจากสัดส่วนโครงสร้างประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานและผลการดำเนินงานโดยรวมของภาคธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีแนวโน้มเป็นลบ แม้ว่าในปี 2561 จะมีการคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อ คุณภาพสินทรัพย์ และอัตราการทำกำไรจะมีการปรับตัวดีขึ้นบ้าง ซึ่งฟิทช์ได้กล่าวไว้ในงานสัมมนาประจำปีของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

มร. แอนดรู แฟนเนลล์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายจัดอันดับเครดิตประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคของฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีสถานะที่ค่อนข้างแข็งแกร่งในด้านฐานะหนี้สินต่างประเทศและฐานะทางการคลังซึ่งน่าจะช่วยรองรับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย มร. แอนดรู ยังกล่าวอีกว่าอันดับเครดิตของประเทศต่างๆ ในปี 2560 โดยภาพรวมมีความเป็นลบลดลง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) ที่ปรับตัวมีเสถียรภาพมากขึ้น สภาวะเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียยังคงอยู่ในระดับที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น โดยปัจจุบันมี 3 ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก อย่างไรก็ตามแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของประเทศสหรัฐอเมริกา การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน และแนวโน้มที่อาจจะมีการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าที่เข้มข้นขึ้น ยังคงเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อสภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคได้

ในส่วนของภาคธนาคารพาณิชย์ มร. โจนาธาน คอนนิช หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคของฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่าระบบธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคยังคงเผชิญกับปัจจัยลบอยู่ แต่ระดับความรุนแรงของปัจจัยลบนั้นลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อช่วงต้นปี 2560 เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ที่ดีกว่าที่คาดการณ์ ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง และปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคโดยรวมที่อยู่ในระดับดี แต่อย่างไรก็ตามสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานยังคงมีความท้าทายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยระบบธนาคารในภูมิภาคเอเชียแต่ละแห่งอาจได้รับผลกระทบในระดับที่ไม่เท่ากันและธนาคารบางแห่งอาจสามารถรับมือกับปัจจัยเสี่ยงหรือผลกระทบได้ดีกว่าธนาคารอื่น

มร. บุชดิกา ปิยะเสนา หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคของฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียต้องเผชิญกับความท้าทายจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้แต่ละประเทศต้องมีการปรับนโยบายการเงินให้สอดคล้องและอาจส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมปรับสูงขึ้น นอกจากนี้แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบให้อุปสงค์ในภาคอุตสหกรรมปรับตัวอ่อนลงและส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้งการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจในประเทศจีนน่าจะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทางการจีนมีความพยายามที่จะควบคุมระดับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจเอกชนและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลท้องถิ่น รวมทั้งควบคุมกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสหกรรม

งานสัมมนาครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานของรัฐ นักลงทุน และผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจและการเงิน เข้าร่วมงานมากกว่า 250 คน และฟิทช์ได้รับเกียรติจาก คุณปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ สมาคมธนาคารไทย มาเป็นผู้กล่าวเปิดงานสัมมนา

คุณวินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง (ประเทศไทย) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาและกล่าวว่าตลาดตราสารหนี้มีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูงในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยตราสารหนี้ของภาคเอกชน (ทั้งภาคสถาบันการเงินและภาคธุรกิจอุตหสากรรม) มีสัดส่วนปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (GDP) จากประมาณ 10% เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันกับประเทศจีน ทั้งนี้ตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเข้าซื้อกิจการหรือการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมายังมีการออกตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตต่ำหรือไม่มีอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นจากทั้งบริษัทไทยและผู้ออกตราสารหนี้ต่างชาติจากประเทศลาว แนวโน้มการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ของไทยในอนาคตน่าจะขึ้นอยู่กับระดับการเติบโตของการลงทุนจากภาคเอกชน รวมทั้งการขยายฐานผู้ออกตราสารหนี้และนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง