กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเร่งผลักดันการเชื่อมโยงตลาด โดยจับคู่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์และข้าว GAP กับผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการ และจัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายผลผลิตข้าวจากโครงการฯ โดยจัดประชุมหารือกับผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการของจังหวัดนครราชสีมา (เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงตลาดรองรับผลผลิตข้าวอินทรีย์ของโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์) โดยนำกลุ่มเกษตรกรมาพบปะกับผู้ประกอบการที่แจ้งว่ามีความต้องการซื้อข้าวในโครงการ โดยจะให้ราคาที่สูงขึ้นตามคุณภาพ และจะเพิ่มให้ตันละ 300 – 500 บาท แล้วแต่ชนิดข้าว
นางสาวชุติมา กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการค้าข้าวที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ สามารถขอให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี โดยมีระยะเวลาได้รับการชดเชยดอกเบี้ย คือ 1) ผู้ประกอบการค้าข้าวอินทรีย์ ได้รับการชดเชยดอกเบี้ย ในระยะเวลา 3 ปี และ 2) ผู้ประกอบการค้าข้าว GAP ได้รับการชดเชยดอกเบี้ย ในระยะเวลา 1 ปี
"โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร จะสามารถแก้ปัญหาราคาข้าวได้อย่างยั่งยืน สามารถวางแผนการใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังมุ่งสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งจะทำให้การเกษตรของไทยได้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านการเชื่อมโยงตลาดอีกด้วย" นางสาวชุติมา กล่าว