มุดรั้ว 'สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ โรงเรียนที่กล้า 'ต่าง’ เพื่อการศึกษาไทยที่ดีกว่าเดิม

15 Sep 2017
เกิดเป็นกระแสที่พูดต่อๆ กันไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว หลังมีข่าวว่าโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อนุญาตให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาเรียนได้ แน่นอนว่าความคิดเห็นบนโลกโซเชียลนั้นมีทั้งคนที่เห็นด้วยและเห็นต่าง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือประเด็นเล็กๆ นี้กำลังจุดคำถามให้สังคมไทยว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสม ทำไมถึงแตกต่าง และความแตกต่างนั้นจะนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนของการศึกษาไทยหรือไม่อย่างไร เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเด็กในระบบการศึกษาไทยล้วนแต่ถูกตีกรอบให้ต้องมีรูปแบบเดียวกัน ทั้งการใส่ชุดนักเรียน การตัดผม การเรียนการสอน หรือแม้กระทั่งวิชาเรียนก็ตาม
มุดรั้ว 'สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ โรงเรียนที่กล้า 'ต่าง’ เพื่อการศึกษาไทยที่ดีกว่าเดิม

นางสาวศิริรัตน์ ศิริชีพชัยยันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่าการอนุญาตให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทมาเรียนได้นั้นเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างทางโรงเรียนกับผู้ปกครอง ที่เห็นพ้องกันว่าการไม่แต่งเครื่องแบบจะสะดวกต่อการทำกิจกรรมมากกว่า ซึ่งนี่เป็นเพียงหนึ่งในนวัตกรรมทางความคิดของโรงเรียนที่อยู่บนพื้นฐานของการให้ความสำคัญกับ'เด็ก' เป็นอันดับหนึ่ง

'การหล่อหลอมที่แตกต่าง'

"ที่นี่ เราเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำให้เด็กได้รู้จักตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง สามารถค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตนเองไปสู่เวอร์ชันที่ดีที่สุดของตัวเองได้ อันจะนำไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดี การประกอบอาชีพที่ใช่ และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ดังนั้นเราจึงพยายามตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการเรียนรู้ของเด็กออกไป และปรับวิธีคิดของการศึกษาใหม่ ซึ่งใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลักสำคัญ และผสานเข้ากับองค์ความรู้จากประเทศที่มีระบบการศึกษาที่โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อย่างฟินแลนด์ และสหราชอาณาจักร โดยเน้นวางรากฐานให้เด็กเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว เริ่มด้วยการสร้างข้อตกลง หรือข้อปฏิบัติร่วมกันกับทางโรงเรียนและผู้ปกครองด้วยการใช้ 'หลักการประชาธิปไตย' อันจะเป็นรากฐานไปสู่การตอกย้ำวัฒนธรรมโรงเรียนที่มุ่งสร้าง'สังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน' อย่างเป็นรูปธรรม"

นอกจากนี้ โรงเรียนได้มีการวาง 'ระบบนิเวศการเรียนรู้' ที่จะช่วยบ่มเพาะให้เด็กๆ สามารถเติบโตได้อย่างมีมิติ สามารถลงลึกในสิ่งที่รักจนกลายเป็นความเชี่ยวชาญ และต่อยอดการเรียนรู้ไปสู่แนวคิดการเป็น 'นวัตกรสังคม (Social Innovator)' ผู้ซึ่งมีทักษะและความสามารถในการประยุกต์ใช้กระบวนการทางความคิดและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนร่วม อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งตัวเด็ก คุณครู และผู้ปกครองในการก้าวเดินไปพร้อมๆ กัน

'สอนต่าง' ด้วย 'หลักสูตรแห่งการเรียนรู้'

ดร.สิทธิโชค ทับทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและกระบวนการเรียนรู้ เล่าว่า หากเทียบกับโรงเรียนทั่วไปที่มีถึง 8กลุ่มสาระการเรียนรู้ หลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะปรับเหลือ 5 กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ ได้แก่ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มนุษย์กับสังคม การสื่อสารและภาษา สุขภาพและสุขภาวะ และสุนทรียะทางศิลปะ โดยในการสอนจะมีการบูรณาการเนื้อหาในแต่ละกลุ่มวิชาอย่างครบถ้วน เช่น กลุ่มมนุษย์และสังคม ก็จะไม่ได้สอนแยกเป็นวิชาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หรือหน้าที่พลเมืองเดี่ยวๆ แต่จะมีการผสมผสานเนื้อหาเพื่อให้ผู้เรียนได้สัมผัสการเรียนรู้อย่างบูรณาการ

รวมทั้งจะได้ทำการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ผ่านกระบวนการเรียนรู้อันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) การเรียนรู้โดยใช้โครงงานตามความสนใจของผู้เรียน (Project-based Learning) การเรียนรู้โดยใช้สาระเป็นฐาน (Theme-based Learning) การเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน (Research-based Learning) และที่สำคัญคือจะมี'การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์ทางสังคมเป็นฐาน (Phenomenon-based Learning)' ซึ่งก็คือการหยิบยกประเด็น หรือกระแสที่เกิดขึ้นในสังคมช่วงนั้นๆ ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา โดยเฉพาะในคาบโฮมรูมตอนเช้า เพื่อให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะคิดวิเคราะห์แยกแยะ รู้เท่าทันสื่อ และสังคมปัจจุบัน

นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังเปิดชมรมให้เด็กๆ ได้เข้าร่วมในวันจันทร์ อังคาร พุธและพฤหัสบดี อันได้แก่ ชมรมนวัตกร ชมรมอาร์ต ชมรมทางด้านกีฬา และชมรมที่นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจอีกด้วย โดยในปีถัดๆ ไปหากนักเรียนมีความสนใจจะตั้งชมรมเองก็สามารถทำได้เช่นกัน อย่างไรก็ดีหลักสูตรโดยรวมในช่วงมัธยมต้นนั้นมุ่งเน้นให้เด็กๆ ได้ทำความรู้จักตัวเอง รู้จักสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ถนัด รวมถึงข้อจำกัดที่มี เพื่อที่จะได้ค้นหาและพัฒนาศักยภาพของตนอย่างเป็นลำดับขั้น และต่อยอดไปสู่การพัฒนาความสนใจเฉพาะด้านในระดับชั้นมัธยมปลายต่อไป

'ครูและบุคลากรที่แตกต่าง'

คุณครูของโรงเรียนนี้จะดูแลนักเรียนในแบบ 'ครูที่ปรึกษา (Coach)' มากกว่า 'ครูผู้ออกคำสั่ง (Instructor)' โดยเน้นการเรียนรู้ที่บูรณาการเข้าไปในชีวิตประจำวัน พร้อมนำเสนอกระบวนการสอนที่สามารถมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ หรือกิจกรรมให้เข้ากับสถานการณ์ได้ตลอดเวลา (Active Learning) ใส่ใจพัฒนาการและความสนใจในการเรียนรู้ในระดับบุคคล โดยใช้ 'การสอนเป็นทีม(Team Teaching)' ซึ่งอาจมีครู 2 – 4 คนในหนึ่งคลาสตามแต่ละแผนการสอน เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด และให้การสอนมีประสิทธิผลสูงสุดนอกจากนี้คุณครูยังมีหน้าที่คอยช่วยฝึกฝนอุปนิสัยที่จำเป็นต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนสนับสนุนสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน โดยเป็นผู้ให้ข้อมูลและทางเลือกที่หลากหลาย ชี้แนะให้เห็นความเป็นไปได้ต่างๆ กระตุ้นให้กล้าคิด กล้าตั้งคำถาม และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ อย่างสุภาพ พร้อมกับเรียนรู้ที่จะรับฟังและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้อื่น ตลอดจนฝึกฝนวินัยในชีวิตประจำวัน ทั้งการกิน การใช้เวลา การใช้เงิน การประหยัด การใช้ชีวิตอย่างไม่เบียดเบียนผู้อื่น และการใช้สติปัญญาตัดสินใจสิ่งต่างๆ

'พ่อแม่ผู้ปกครองต้องต่าง'

บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครอง และสังคมภายนอกโรงเรียน มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นที่ปรึกษาและเป็นต้นแบบในเรื่องต่างๆ ของนักเรียนที่มีความสุข เช่น การพัฒนาบุคลิกภาพ การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไปจนถึงการประกอบอาชีพ ดังนั้นนอกจากการคัดเลือก 'นักเรียน' โรงเรียนจึงให้ความสำคัญกับการคัดเลือก 'พ่อแม่และผู้ปกครอง' ด้วยเช่นกัน โดยเมื่อเด็กสอบผ่านแล้ว ทางโรงเรียนก็จะมีการจัดกิจกรรม 'ครอบครัวสาธิตฯ (The Satit Family)' ขึ้นเพื่อ สร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู ผู้เรียน และครอบครัว ทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับเป้าหมายในการเรียนรู้ของเด็ก อันจะนำไปสู่ความเข้าใจอันดีต่อกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายให้กับเด็กๆ

"ปัญหาที่สะสมในวัฒนธรรมการศึกษาไทยคือ ระบบการศึกษาที่เน้นท่องจำมากกว่าการทำความเข้าใจ และบรรยากาศการมองโรงเรียนเป็นเพียงพื้นที่แห่งการแข่งขัน ซึ่งส่งผลให้เยาวชนจำนวนไม่น้อยขาดความสุขในการเรียนรู้ และเติบโตเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาโดยปราศจากการค้นพบศักยภาพ และความสนใจของตัวเอง โดยโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีความมุ่งหวังที่จะเป็นสถาบันต้นแบบในการบ่มเพาะเด็กไทยให้ค้นพบศักยภาพในตัวเอง และมีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง" นางสาวศิริรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ในวันที่วงการศึกษาไทยยังคงมืดมน ก็ถือเป็นเรื่องดีๆ ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ออกมาเริ่มต้นจุดประกายไฟที่พอจะเป็นแสงสว่างให้คนไทยได้เริ่มมีความหวังอีกครั้ง สังคมแห่งการเรียนรู้มิติใหม่ในวันนี้จะกลายมาเป็นสถาบันการศึกษาต้นแบบของประเทศได้หรือไม่ คงต้องตั้งตารอกันต่อไปอีกสักพัก ส่วนเด็กๆ หรือผู้ปกครองคนไหนที่สนใจอยากให้ลูกได้เข้ามาสัมผัสการเรียนรู้ ณ โรงเรียนที่คิดต่างแห่งนี้ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ satit.tu.ac.th หรือหมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4442-79

HTML::image( HTML::image( HTML::image(