"TMB Analytics ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 3.5% จากเดิมคาดการณ์ที่ 3.3%" ปัจจัยผลักดันมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นกว่าคาดสอดคล้องกับการปรับดีขึ้นต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก โดยทั้งปีคาดว่ามูลค่าส่งออกจะขยายตัวที่ 5.8% การที่ภาคส่งออกกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น มีส่วนทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่นปรับดีขึ้นตาม ทั้งภาคการผลิตที่พลิกกลับมาขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัวหลังจากที่อยู่ในภาวะซึมๆ มากว่า 3 ปี และมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวต่อเนื่องสะท้อนจากการนำเข้าเพื่อการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับประมาณการเดิม โดยได้รับปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังคงเติบโตแข็งแกร่ง จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวในเกือบทุกตลาด ขณะที่ มองการลงทุนภาครัฐทั้งปี คาดว่าจะเห็นเม็ดเงินลงทุนต่ำกว่าประมาณการเดิม โดยเฉพาะงบกลางปี 1.9 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะเบิกได้ต่ำกว่าเป้า
" คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2561 มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง คาดขยายตัว 3.8% จากการเติบโตในทุกด้านบนโครงสร้างแบบเล็กๆไม่โต แต่ใหญ่ๆโต" เริ่มจากการส่งออก ซึ่งเราคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องที่ 4.8% สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการขยายตัวมาจากบริษัทขนาดใหญ่ 4.3% เหลือเป็นส่วนบริษัทขนาดเล็กเพียง 0.5% แต่จะให้ภาพกลับกันในมุมของจำนวนผู้ประกอบการ กล่าวคือบริษัทเล็กมีจำนวนผู้ประกอบการมากถึง 77% ของระบบ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทย ขณะที่บริษัทใหญ่ๆมีจำนวนผู้ประกอบการเพียง 23% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มส่งออกดี ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ซึ่งเป็นของบริษัทใหญ่ จึงกล่าวได้ว่า ผลของการส่งออกที่เติบโต ส่วนใหญ่ตกอยู่กับบริษัทใหญ่ แต่บริษัทเล็กได้รับผลในวงจำกัดเท่านั้น
เช่นเดียวกับ การลงทุนภาคเอกชนที่การเติบโตถูกขับเคลื่อนจากบริษัทใหญ่ หากใช้เกณฑ์สินทรัพย์ถาวรเป็นตัวแบ่งขนาดของการลงทุน พบว่าบริษัทใหญ่มีสินทรัพย์ลงทุนคิดเป็น 80% ของระบบ ที่เหลือเป็นบริษัทเล็ก 20% โดยแนวโน้มในปี 61 คาดว่าภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัว 3.8% มาจากการลงทุนของบริษัทใหญ่ 3% ซึ่งมีความพร้อมที่จะขยายการลงทุน เมื่อพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนการลงทุน(ROE) และกระแสเงินสด(FCF) รวมทั้งได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนทั้ง BOI, โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) และ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน(PPP) ตลอดจนเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตดี ในหมวดบริการ อาทิ การสื่อสารและโทรคมนาคม การก่อสร้างของโครงการใหญ่ และหมวดอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ในขณะที่ บริษัทเล็กมีส่วนการเติบโตของการลงทุนอยู่เพียง 0.8% เท่านั้น เนื่องจากมีความสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนระดับต่ำ อีกทั้งการที่ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้า ทำให้ความจำเป็นที่ต้องลงทุนมีไม่มากนัก
สำหรับการบริโภคภาคเอกชน เป็นภาพที่เชื่อมโยงจากการส่งออกและการลงทุน โดยใช้การจ้างงานเป็นตัวบ่งชี้ เราพบว่าแม้ว่าบริษัทใหญ่ที่มีแนวโน้มเติบโตดี กลับมีสัดส่วนการจ้างงานที่ต่ำเพียง 13% ของแรงงานทั้งระบบ เมื่อเทียบกับบริษัทเล็กและภาคเกษตรที่มี การจ้างงานเป็นจำนวนมากและกระจายทั่วภูมิภาค กอปรกับในปี 61 คาดว่าราคาสินค้าเกษตรจะทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.2% ใกล้เคียงกับปี 60 ดังนั้น การบริโภคภาคเอกชน ไปได้ไม่ไกล เพราะเศรษฐกิจส่วนที่โตดี มีการจ้างงานต่ำสำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางหลัก ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ2.0% ในปี 61
สำหรับภาวะตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น จากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ นโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทจะมีทิศทางแข็งค่าขึ้น และมีโอกาสแตะ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายปี 61 จากแนวโน้มเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง หนุนโดยปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งขึ้น
"ส่วนการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ในปี 61 มีแนวโน้มดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาครัฐ" สินเชื่อโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัว 5.7% เร่งตัวขึ้นจากการกลับมาเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่ นำโดยธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ได้รับผลดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วน SME และสินเชื่อรายย่อยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อจะทยอยปรับตัวดีขึ้นจากการปลดล็อคโครงการรถยนต์คันแรก สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตจะค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวในระดับต่ำเนื่องจากถูกจำกัดด้วยมาตรการคุมหนี้ครัวเรือน สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะฟื้นตัวตามกำลังซื้อแม้ยังมีปริมาณอุปทานคงเหลืออยู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในระดับสูง
ในด้านคุณภาพสินเชื่อ คาดว่าสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมจะอยู่ในระดับสูงสุดที่ 3.0% ในไตรมาส 3 ของปี 60 คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.26 แสนล้านบาท โดย 80% ของมูลค่า NPL อยู่ที่สินเชื่อ SME และสินเชื่อรายย่อย อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ NPL จะลดลงตามการปรับดีขึ้นของเศรษฐกิจ โดยจะเห็นการก่อตัวของ NPL (NPL Formation) มีแนวโน้มลดลงในช่วงปีหน้าเป็นต้นไปในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าที่ปรับดีขึ้นตามการลงทุนภาคเอกชน
ด้านเงินฝากมีแนวโน้มขยายตัว 5.9% เพิ่มขึ้นตามความต้องการสินเชื่อและทิศทางการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 61 นำโดยเงินฝากประจำที่จะกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังจากหดตัว 3 ปีติตต่อกัน ทำให้สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี เมื่อมองสภาพคล่องโดยรวมของประเทศแล้ว เรายังมีสภาพคล่องเหลือกว่า 11 ล้านล้านบาท" นายนริศ กล่าวสรุป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit