พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติมีมติให้ปี 2561 เป็น "ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน" หรือ "Amazing Thailand Tourism Year 2018" โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 – 1 มกราคม 2562 และจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 โดยที่ประชุมในวันนี้ประกอบด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลุ่มห้างสรรพสินค้า และกลุ่มสายการบิน เพื่อขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ การใช้ตราสัญลักษณ์ การมอบสินค้าและบริการราคาพิเศษ อีกทั้งการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยไมตรีจิต การดำรงวัฒนธรรมที่ดีงามและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์
สำหรับสาระสำคัญในการส่งเสริม "ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน" นั้น เป็นการเน้นย้ำให้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่เกื้อกูลเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยาและการต่างประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพที่เจริญเติบโตอย่างมีดุลยภาพบนพื้นฐานของความเป็นไทยโดยนำรายได้สู่ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลกที่เติบโตอย่างแข็งแรง
ทั้งนี้รัฐบาลจะส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีความพร้อมบนพื้นฐานของเอกลักษณ์ไทย ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความต้องการของประชากรโลก อีกทั้งสอดรับกับเจตนารมย์ของ UNWTO มุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพ แต่ยังคงรักษาฐานนักท่องเที่ยวตลาดเดิม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน โดยยกระดับและเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยวให้กับชุมชนทั่วประเทศ อันจะเป็นการวางรากฐานของเศรษฐกิจในภาพรวม เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัด 15 กิจกรรม เพื่อส่งเสริมปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 7 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism)
การท่องเที่ยวทางน้ำ (Maritime Tourism) การท่องเที่ยวเพื่อการแต่งงานและการฮันนีมูน (Wedding & Honeymoon Tourism) การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism) การท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ (Leisure Destination) และ 8 กิจกรรมเสริม ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Green Tourism) การท่องเที่ยวยามค่ำคืน (Night Tourism) การท่องเที่ยวในธุรกิจไมซ์ (MICE Tourism) การจัดงานแสดงสินค้า (Trade Fair) การจัดกิจกรรมการตลาดระหว่างธุรกิจกับธุรกิจที่ต่างประเทศ (B2B Marketing Activity Aboard) การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว (Logistics) การเป็นเจ้าบ้านที่ดี (Human Resource Development) และการจัดกิจกรรมเพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Country Relationships)
โดยในปีนี้ประเทศไทยมีโอกาสในการเป็นเจ้าภาพงานระดับโลกมากมาย อาทิ การสวนสนามทางเรือนานาชาติ (The 50th Anniversary of ASEAN International Fleet Review 2017 : ASEAN IFR 2017) โดยกองทัพเรือจะเชิญกองทัพเรือจากประเทศสมาชิกอาเซียนและนอกอาเซียนรวมกว่า 30 ประเทศ จัดสวนสนามเรือรบที่ทันสมัยและมีสมรรถนะสูงกว่า 40 ลำ โดยเรียนเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ร่วมด้วยผู้บังคับบัญชาฝ่ายไทยและต่างประเทศ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมชมการสวนสนามทางเรือนานาชาติ โดยกำหนดจัดกิจกรรมขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน นี้ ณ บริเวณอ่าวพัทยา เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรีการแข่งขันการบิน "AIR RACE 1 THAILAND" ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย การแข่งขันเครื่องบินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้ชมทั่วโลก โดยมีนักกีฬาและผู้ติดตามชมการแข่งขันจากต่างประเทศเข้าร่วมชมเป็นจำนวนมากซึ่งจะทำให้เกิดผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย ทั้งด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยจัดขึ้นในวันที่ 19 - 20 พฤศจิกายนนี้ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง
การจัดแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก โมโต จีพี ในปี 2561 – 2563 เป็นระยะเวลา 3 ปี ส่งผลให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 19 สนามแข่งขันทั่วโลก กำหนดจัดการแข่งขันในเดือนตุลาคมปี 2561 ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งปัจจุบัน Moto GP มีการติดตามชมกว่า 800 ล้านคน จาก 207 ประเทศทั่วโลก และคาดว่าจะมีผู้ชมการแข่งขันในประเทศไทยกว่า 2 แสนคน มีเงินหมุนเวียนกว่า 1 พันล้านบาทงาน UNWTO World Forum on Gastronomy Tourism ครั้งที่ 4 เป็นความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การการท่องเที่ยวโลก จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2561 โดยถือเป็นโอกาสในการเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย ในรูปแบบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ร้านอาหาร โรงแรม แหล่งผลิตวัตถุดิบ ต่อไป
อย่างไรก็ดี นอกจากกิจกรรมระดับโลกดังกล่าวแล้ว รัฐบาลยังคงส่งเสริมกิจกรรมด้านวัฒนธรรม ประเพณีการละเล่นของท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งมีเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน อาทิ เทศกาลลอยกระทง ตรุษจีน สงกรานต์ ประเพณีเชิงศาสนา อาทิ เข้าพรรษา ออกพรรษา ฮารีรายอ ซึ่งจัดขึ้นทั่วประเทศตลอดทั้งปี รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ที่มีความสวยงามตามฤดูกาล อีกด้วย
นอกจากนี้ ททท. ยังได้มีการจัดประกวดตราสัญลักษณ์ "ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน" โดยมี ผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 168 ชิ้นงาน ผ่านการคัดเลือก 7 ชิ้นงาน โดยรางวัลชนะเลิศเป็นของนายสุรัตนชัย ชื่นตา ซึ่งมีแนวคิดในการออกแบบตราสัญลักษณ์โดยรวมคล้ายกับเครื่องหมายอนันต์ (Infinity ∞ ) สื่อถึงปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน ที่นักท่องเที่ยวจะได้รู้สึกถึงความพิเศษที่ได้เดินทางมาและได้สัมผัสความเป็นไทยที่จะสร้างความสุข และความทรงจำอันน่าประทับใจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยผสมผสานสัญลักษณ์แบบไทย ได้แก่ ลายประจำยาม ช้าง และเรือสุพรรณหงส์ ซึ่งผลงานดังกล่าวจะเป็นตราสัญลักษณ์ที่ทุกหน่วยงานใช้ตลอดปี 2561 ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดการขอใช้ตราสัญลักษณ์ ได้ที่ 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit