สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เร่งปรับโครงสร้างหลักสูตรแก้ปัญหาประเทศ ชี้หากไทยต้องการปฏิรูปการศึกษาให้ทัดเทียมนานาชาติ ต้องอาศัย "การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม" เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเผยผลงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ข้อ คือ 1. สร้างความร่วมมือ 2. พัฒนาและเพิ่มหลักสูตร โดยจัดตั้งวิทยาลัยใหม่ 3 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ วิทยาลัยวิจัยนวัตกรรมทางการศึกษา โดยมี "โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า" (KMIDS) อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ และผลักดันโครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก และ 3. การบริการวิชาการ มุ่งเดินหน้าสู่เป้าหมายการขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง สถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอาเซียน ภายในปี 2563
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ในฐานะอธิการบดี สจล. ได้เร่งวางโครงสร้างหลักสูตร มุ่งเน้นการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาประเทศเป็นสำคัญ ดังนั้น ในช่วงที่ประเทศกำลังเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาให้ทัดเทียมนานาชาติ จำเป็นต้องอาศัย "การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม" เป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ สจล. มีเป้าหมายในการเป็นผู้นำสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันดับ 1 ของอาเซียน ภายในปี 2563 โดยได้เร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ข้อ เพื่อก้าวสู่การเป็นหนึ่ง คือ
1. สร้างความร่วมมือ กับ มหาวิทยาลัยหรือสถาบันชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้ลงนามความร่วมมือกับ "มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน" มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ระดับโลก ในการจัดตั้งหน่วยงานความร่วมมือระหว่างสองสถาบัน การเปิดหลักสูตรร่วมกัน การจัดทำโครงการวิจัยร่วม และการแลกเปลี่ยนอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา
2. พัฒนาและเพิ่มหลักสูตร เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยในปีที่ผ่านมา สจล. ได้จัดตั้งวิทยาลัยน้องใหม่ เพื่อขยายองค์ความรู้ให้รอบด้านถึง 3 วิทยาลัย และเร่งเดินหน้าจัดตั้งวิทยาลัยเพิ่มอีก 1 วิทยาลัย ได้แก่
· วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ ซึ่งจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2561 โดยล่าสุดเมื่อวันที่15 ส.ค. ที่ผ่านมา สจล. ได้ลงนามความร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการร่วมพัฒนาหลักสูตรและถ่ายทอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ ในการผลิตแพทย์ให้ได้ตามมาตรฐานสากล
· วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ โดยเปิดสอนทั้งหลักสูตรระยะสั้นจนถึงหลักสูตรบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต เพื่อส่งเสริมการผลิตบุคลากรด้านอุตสาหกรรมการบินของไทย พร้อมผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมซึ่งจะพัฒนาประเทศไทย ไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต การซ่อม และบำรุงอากาศยานแห่งภูมิภาคอาเซียน
· วิทยาลัยวิจัยนวัตกรรมทางการศึกษา โดยมี "โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า" (KMIDS) อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ ซึ่งล่าสุดได้เปิดสอนภาคการศึกษาแรกไปแล้ว เมื่อต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้หลักสูตรสะตีม (STEAM) ซึ่งเป็นระบบบูรณาการการเรียนที่เน้นการเข้าถึง 5 ศาสตร์ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปวิทยาการ และคณิตศาสตร์ ซึ่งระบบดังกล่าวช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะและความสามารถเฉพาะตัวในด้านการทดลอง การทำงานร่วมกัน การใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตผลงาน
· โครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก โดยคาดว่าจะสามารถเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรี รุ่นแรกในปีการศึกษา 2561 แบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร คือ 1. Earth Systems & Environmental Engineering และ 2. Space Engineering สำหรับการแก้ปัญหาการความไม่แม่นยำการพยากรณ์อากาศ การบริหารจัดการน้ำ และป้องกันภัยธรรมชาติภาพรวมของประเทศ3. การบริการวิชาการ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนและภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นงานวิจัย 4 ประเภท ได้แก่ ด้านอาหาร การเกษตร พลังงาน และโลจิสติกส์
"ความพยายามในการผลักดัน สจล. สู่ ผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอาเซียน เริ่มเห็นผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ประจำปี 2016-2017 (World University Rankings 2016-2017) โดย Times Higher Education สำนักจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกชื่อดังจากประเทศอังกฤษ ถือเป็นครั้งแรกที่ สจล. ติดหนึ่งในสถาบันการศึกษาอันดับโลก นอกจากนี้ยังติดอันดับที่ 67 ในด้าน Industry income หรือ รายได้ทางอุตสาหกรรม ซึ่งวัดจาก นวัตนกรรมที่เป็นสิ่งใหม่ในวงวิชาการที่มหาวิทยาลัยได้คิดค้นขึ้นอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ประจำปี 2017 (BRICS & Emerging Economies Rankings 2017) โดย Times Higher Education ซึ่งใช้เกณฑ์การประเมินด้านคุณภาพการเรียนการสอน ด้านคุณภาพงานวิจัย ด้านการอ้างอิงผลงานวิจัย ด้านความเป็นนานาชาติ และด้านรายได้ทางอุตสาหกรรมที่เกิดจากนวัตกรรมหรืองานวิจัย ผลปรากฏว่า สจล. อยู่ในอันดับที่ 4 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 145 ของโลก" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ยังมุ่งหวังให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ภาครัฐ และภาคเอกชน เร่งปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกับโลกยุคใหม่และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจากการที่ได้ไปสัมผัส "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งกราซ" (Graz University of Technology) มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิศวกรรมของออสเตรีย ซึ่งก้าวล้ำหน้ากว่าประเทศไทยหลายช่วงตัวพบว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และมีการผลิตคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาทางอุตสาหกรรมของประเทศ คือการได้รับงบประมาณและสนับสนุนการทำวิจัยร่วมกัน ระหว่างสถาบันการศึกษากับภาครัฐและเอกชน ซึ่งแตกต่างกับบ้านเราตรงที่งานวิจัยส่วนใหญ่ไม่ถูกนำไปพัฒนาต่อยอด หรือเรียกว่า "ขึ้นหิ้ง" นั่นเอง จึงถือเป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนว่าแท้จริงแล้วใช่ว่าคนไทยไม่เก่ง แต่ปัญหาอยู่ที่ความร่วมมือและการมองเป้าหมายที่ต่างกัน ระหว่างภาคการศึกษากับภาครัฐและเอกชนนั้นเอง
นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit