ปภ.รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 5 จังหวัด พร้อมประสาน 33 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 8 – 10 ก.ย. 60

11 Sep 2017
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 5 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี และพระนครศรีอยุธยา รวม 20 อำเภอ 110 ตำบล 517 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 760 ครัวเรือน 2,910 คน ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกมิติ พร้อมประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมรับมือฝนตกและฝนตกหนักบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 8 – 10 กันยายน 2560 อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลลนถล่ม บริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ลุ่มต่ำ ริมชายฝั่งทะเล และพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หย่อมความกดอากาศต่ำ พายุโซนร้อนตาลัสและพายุโซนร้อนเซินกา ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 44 จังหวัด 302 อำเภอ 1,724 ตำบล 14,105 หมู่บ้าน 43 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 609,425 ครัวเรือน 1,898,322 คน ผู้เสียชีวิต43 ราย ดำเนินการช่วยเหลือแล้ว 40 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 ราย บ้านเรือนเสียหาย 3,984 หลัง แยกเป็น เสียหายบางส่วน 3,969 หลัง เสียหายทั้งหลัง 15 หลัง ดำเนินการช่วยเหลือแล้ว 2,034 หลัง อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,950 หลัง ถนน 2,401 สาย คอสะพาน 111 แห่ง สะพาน 207 แห่งฝายและทำนบ 8,753 แห่ง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 2,580,000 ไร่ แยกเป็น นาข้าว 2,410,000 ไร่ พืชไร่ 170,000 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 7,000 ไร่ บ่อปลา 13,199.28 ไร่ ปศุสัตว์ 45,706 ตัว ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 39 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 5 จังหวัด แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี และภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา รวม 20 อำเภอ 110 ตำบล517 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 760 ครัวเรือน 2,910 คน จุดอพยพ 8 จุด 866 ครัวเรือน 3,118 คน ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ พร้อมกำชับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วให้เร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ส่วนจังหวัดที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัยให้ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ควบคู่กับการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยเชื่อมโยงการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว นอกจากนี้ จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 8 – 10 กันยายน 2560 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ โดยเฉพาะบริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ลุ่มต่ำ ริมชายฝั่งทะเล และพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในช่วงฝนตกหนักสะสมในพื้นที่และช่วงเวลาที่มีน้ำทะเลหนุนสูง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงประสาน 33 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย แยกเป็น ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร และพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัดได้แก่ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย และจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียง เตรียมพร้อมรับมือฝนตกและฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกล ด้านสาธารณภัย ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถติดต่อ ขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป