นายนิติ วิทยาวิโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.ธัญบุรี ตัวแทนผู้จัดโครงการ เล่าว่า ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ธัญบุรี จัดโครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SMEs ปี 2560 ในพื้นที่ ภาคเหนือ ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้นในรูปแบบ Business to Business to Customers (B2 B 2C) เชื่อมโยงการส่งเสริมการตลาดระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ภาคการผลิต กับผู้ให้บริการด้านตลาดออนไลน์ โดยมีเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการจำนวน 21,700 ราย สินค้าหรือบริการ จำนวน 32,500 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งคัดเลือกจากกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้ประกอบการที่ทางมหาวิทยาลัยฯ เป็นที่ปรึกษาจากโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา พร้อมทั้งช่วยพัฒนาให้ความรู้ให้คำปรึกษาและเตรียมความพร้อมจำนวนไม่น้อยกว่า 25,000 ผลิตภัณฑ์ ขึ้นไปจำน่ายบนตลาดออนไลน์
นายกิตตินนท์ อุ้ยวงศ์ไพศาล ผู้จัดการฝ่าย Shopping Mall และการตลาด บริษัท ตลาด ดอทคอม (TARAD.com) เล่าว่า ปัจจุบันช่องทางในการขายออนไลน์มีให้เลือกมากมาย ซอฟต์แวร์ร้านค้าออนไลน์ (Open Source) ร้านค้าออนไลน์สำเร็จรูป และกำลังได้รับความนิยม Social Media Shop ไม่ว่าจะเป็น facebook Line@ โดยผู้ประกอบการต้องเลือกช่องทางให้เหมาะสมกับธุรกิจ มีช่องทางในการชำระเงินที่สะดวก ดูแลบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ ในเรื่องของการขนส่ง การจัดการคลังสินค้า ช่องทางดูแลดูค้า "การดูแลลูกค้าให้ดี คือ คำโฆษณาที่ดีที่สุด" ปัจจัยความสำเร็จของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ประกอบด้วย Platform 30 % Marketing 40 % และ Operation 30 % ปัจจัยสำเร็จในการสร้างยอดขายออนไลน์ การตลาด และข้อมูลสินค้าที่ดึงดูดลูกค้า
อีกหนึ่งแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในการค้าขายออนไลน์ นางสาวจิราพร พงศ์รุจิกรพันธุ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิราพรฟู๊ด ผู้ประกอบการกล้วยตากจิราพร เล่าว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เลือกที่จะซื้อผ่านออนไลน์ จึงทำให้ตลาดออนไลน์โตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทางจิราพรกล้วยตากได้บุกตลาดออนไลน์มากว่า 3 ปี เรียนรู้ ค่อยๆ เรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเริ่มจากการซื้อขายผ่านเว็บไซต์ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เช่น ขั้นตอนในการซื้อขาย จึงหันมาใช้ในส่วนของ Social Media ในส่วนของแฟนเพจ และ Line@ ซึ่งในช่วงแรกๆ จะโพสขายสินค้าแบบไม่มีเป้า จากการสังเกตไม่มีลูกค้าสนใจเข้ามากดไลค์ จึงเริ่มที่จะหาข้อมูล ไปเรียนและอบรมตามที่ต่างๆ นำมาปรับใช้ ในการขายของออนไลน์ Content เป็นเรื่องที่สำคัญ ตลอดจนรูปถ่ายสินค้าต้องดึงดูด "การขายของออนไลน์ ต้องทำให้สินค้ามีตัวตน ด้วยการสร้างContent ให้สินค้าของเราเอง" ปัจจุบันกล้วยตากจิราพรสร้างยอดขายผ่านออนไลน์ได้ประมาณเดือนละ 400,000 – 500,000 บาท "ผู้ประกอบการที่เริ่มต้นในการขายออนไลน์ ต้องเลือกช่องทางในการขาย และต้องสื่อสารให้ตรงกลับกลุ่มเป้าหมาย"
ทางด้าน ผู้ประกอบการเซรามิกรักษ์ดิน จ.ลำปาง นางทิพยา จิวกิตติศักดิ์กุล เล่าว่า ในการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ซึ่งถ้ามีเวทีในการให้ความรู้ต่างๆ จะเข้าร่วม "การเรียนรู้มีตลอดชีวิต วิทยากรต่างๆ องค์ความรู้ก็ต่างไปด้วย ฉะนั้นต้องเรียนรู้อยู่สม่ำเสมอ" โดยส่วนตัวมีการขายออนไลน์ผ่านทางเฟสบุ๊ค แต่ด้วยตัวสินค้ามีข้อจำกัด ลูกค้าส่วนใหญ่อยากเห็นตัวสินค้าจริง ดังนั้นสินค้าจึงยังเจาะตลาดออนไลน์ไม่ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นตลาดออฟไลน์มากกว่า อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงช่องทางในการขายออนไลน์ได้ เพราะว่าทุกคนต้องการความสะดวกสบาย จึงอยากหาความรู้ต่างๆ มาปรับใช้ในธุรกิจของตนเอง ในการเข้าโครงการนี้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในธุรกิจได้
นายมนตรี นนทธิ ผู้ประกอบการธุรกิจมนตรีเครื่องเงินสุโขทัย จ.สุโขทัย เล่าว่า อยากเปิดตลาดให้กว้างขึ้น อยากรู้หลักการทำตลาดและการพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้น จึงมาเข้าโครงการในครั้งนี้ "งานทักทอเงินโบราณเป็นงานที่มีความละเอียด ประณีตและงดงาม บ่งบอกความเป็นศิลปะของงานหัตกรรม โดยตั้งใจจะสืบทอดเจตนารมณ์และผลงานสร้างสรรค์ของบรรพชนชาวศรีสัชนาลัยให้ยังคงอยู่สืบต่อไป" บางลวดลายที่ทำมีเฉพาะที่สุโขทัยเท่านั้น และเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยทำงาน เจ้าของธุรกิจและผู้ชื่นชอบการแต่งผ้าไทย และมั่นใจว่าเรื่องราวออนไลน์ที่อบรมนี้ จะทำให้มนตรีเครื่องเงินสุโขทัยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit