โดยในปีนี้ มีช้างเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 25 เชือก โดยช้างแต่ละเชือกได้รับการตรวจสุขภาพจากสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และจากกรมปศุสัตว์ ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมงาน ช้างทุกเชือกยังได้รับอาหาร วิตามินที่จำเป็น รวมถึงการดูแลเป็นอย่างดีอีกด้วย
การแข่งขันกีฬาโปโลช้างชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดขึ้นครั้งแรก ในปี 2544 โดยกลุ่มโรงแรมอนันตรา ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นกิจกรรมการกุศลที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในประเทศไทย อันมีจุดประสงค์เพื่อระดมทุนช่วยเหลือช้างไทยให้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยในปีนี้สามารถระดมทุนเพิ่มได้อีกราว 6 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ยอดรวมในการระดมทุนตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันสูงถึง 50 ล้านบาท (1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
รายได้จากการระดมทุนจะนำไปบริจาคแก่โครงการเพื่อช่วยเหลือช้างต่าง ๆ อย่างการอบรมการฝึกช้างโดยใช้ไม้ชี้นำ (Positive Reinforcement Target Training programme) ซึ่งเป็นการฝึกช้างด้วยวิธีเชิงบวกให้กับควาญช้างและสัตวแพทย์ องค์การสวนสัตว์ซึ่งสนับสนุนสัตวแพทย์และการวิจัยศึกษาต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของควาญช้างและช้างกว่า 300 เชือก ที่บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของเหล่าอดีตช้างเร่ร่อนที่อาจยังคงมีชีวิตที่ยากลำบาก
ตัวอย่างโครงการอื่นๆ ที่ได้รับประโยชน์จากการระดมทุนในการแข่งขันโปโลช้าง เช่น งานวิจัยช้างเพื่อการบำบัดเด็กออทิสติก (Thai Elephant Therapy Project – TETP) โดยภาควิชากิจกรรมบำบัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 เพื่อมุ่งสร้างคลินิคบำบัดเด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรมและอาการอื่น ๆ จัดสรรงบประมาณ 500,000 บาท เพื่อโครงการขาเทียมช้าง โดยศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เพื่อช่วยให้ช้างพิการสามารถยืนได้อีกครั้ง โครงการปลูกต้นไม้ 4,000 ต้น ที่อำเภอหัวหิน เพื่อเป็นแนวรั้วธรรมชาติขจัดความขัดแย้งในการรุกลล้ำพื้นที่ระหว่างชาวไร่ชาวนากับช้าง สนับสนุนหลักสูตรการศึกษาด้านการอนุรักษ์ให้กับโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และการปกป้องช้างป่าในประเทศไทย และสนับสนุนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับประโยชน์ของการฝึกช้างบ้านด้วยวิธีเชิงบวก (Positive Reinforcement Training) ครั้งแรกในเอเชียแก่ควาญช้างและเจ้าของปางช้างอีกด้วย
โดยงานการแข่งขันโปโลช้างซึ่งเต็มไปด้วยความสนุกสนานสำหรับผู้เข้าร่วมทุกเพศทุกวัย เริ่มต้นขึ้นในวันแรกด้วยขบวนพาเหรด พร้อมการแสดงรำไทยพิธีเปิดและพิธีทำขวัญช้าง โดยครูบาใหญ่ ผู้นำของเหล่าควาญช้าง และเกมการแข่งขันโปโลช้างประจำวัน
ในวันที่ 2 ของการจัดงานเป็นวันช้างน้อย ซึ่งมีเด็ก ๆ หลายร้อยคนจากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร เข้าชมงาน และเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ประจำชาติของไทย ผ่านฐานกิจกรรมให้ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับช้าง ชีวิตความเป็นอยู่ช้าง รวมถึงการอนุรักษ์ช้าง
ในวันที่ 3 ของการจัดงาน ซึ่งเป็นสำหรับวันเสาร์ เป็นวันเลดี้ส์ เดย์ (Ladies Day) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "บางกอก แอสคอต" (Bangkok Ascot) ซึ่งเหล่าสุภาพสตรีได้ตบเท้าเข้าร่วมสร้างสีสันในชุดเดรสสวยงาม โดยสุภาพสตรีที่แต่งตัวถูกใจกรรมการมากที่สุดยังได้รับรางวัลห้องพักที่มัลดีฟส์อีกด้วย
ในวันสุดท้ายของการจัดงาน พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ผู้แทนพระองค์ ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบถ้วยรางวัลพระราชทานให้แก่ทีมผู้ชนะ โดยเกมในรอบตัดเชือกเป็นการแข่งขันกันอย่างสูสี ระหว่างแชมป์เก่าทีมคิงเพาเวอร์ กับ ทีมแม่โขง โดยทีมแม่โขงสามารถคว้าชัยไปได้อย่างเฉียดฉิวในนาทีสุดท้ายของการแข่งขัน ด้วยคะแนน 11 ต่อ 10ลำดับผลการแข่งขันโปโลช้างชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ 15
ที่ 1 แม่โขง (Mekong)
ที่ 2 คิงเพาเวอร์ (King Power)
ที่ 3 คาซิเญโร เดล ดิอาโบล (Casillero del Diablo)
ที่ 4 จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ บลู เลเบิ้ล (Johnnie Walker Blue Label)
ที่ 5 อาราเบียน ไนทส์ (Arabian Knights)
ที่ 6 ซิตี้ (Citi)
ที่ 7 พีดับบลิวซี ออลแบล็คส์ (PWC All Blacks)
ที่ 8 ไอบีเอ็ม (IBM)
ที่ 9 เบนิฮานา (Benihana)
ที่ 10 อนันตรา (Anantara Hotels, Resorts & Spas)
สามารถเยี่ยมชมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแข่งขันโปโลช้างชิงถ้วยพระราชทานประจำปี ครั้งที่ 15 ได้ที่ www.anantaraelephantpolo.com