สมาคมบริษัทจัดการลงทุนหารือแนวทางการจัดตั้ง “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย”

13 Mar 2017
15 บริษัทจัดการลงทุนรวมตัวสานต่อการจัดตั้งกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย เตรียมจัดตั้งกองทุนรวมหุ้นทั้งนโยบายที่เป็นactive fund และ passive fund หรือ ETF ที่เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่มีธรรมภิบาล ส่งเสริมการทำธุรกิจที่คำนึงถึงการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยได้มีการหารือกันภายในถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุนและจำนวนหลักทรัพย์ใน Universe ที่เหมาะสม

วรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ระบุว่า "การประชุมระหว่าง 15 บลจ. ในครั้งนี้เป็นการสานต่อสิ่งที่พวกเราในฐานะผู้ลงทุนสถาบันประกาศต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 27กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพื่อทำให้ "กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย" เกิดขึ้นภายในปีนี้ด้วยความสมัครใจ ซึ่งด้วยความตั้งใจจริงของ 15 บลจ. ที่เข้าร่วม ทำให้มั่นใจว่าการเกิดขึ้นของกองทุนรวมชนิดนี้จะทำให้ตลาดทุนโดยรวมมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าในเรื่องธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน และเรากำลังแสวงหาแนวทางคัดกรองหุ้นเข้า Universe ที่พวกเราจะลงทุนได้ โดยจะไม่สร้างภาระเพิ่มให้บรรดาบริษัทจดทะเบียน"

ด้าน วีระ วุฒิคงศิริกูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บลจ.กรุงไทย ให้ความเห็นว่า เนื่องจากทุกกองทุนที่จัดตั้งขึ้นจะเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่มี Universe เดียวกัน ดังนั้นจำนวนหลักทรัพย์ใน Universe ควรมีมากพอที่จะรองรับการลงทุน เพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์นั้น ๆ

ในด้านหลักเกณฑ์การคัดเลือกนั้น สมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า ในช่วงแรกจะนำหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีหน่วยงานกลางหรือผู้เชี่ยวชาญทำการประเมินอยู่แล้ว โดยอาจใช้หลักเกณฑ์ที่มีมิติในการประเมินหลายมิติประกอบกันก็ได้ เช่น CG, ESG, Anti-corruption อาทิ หลักเกณฑ์ของสถาบัน IOD, SET, สถาบันไทยพัฒน์ แต่ในระยะต่อไปเมื่อมีความพร้อมมากขึ้นแล้วอาจจัดทำหลักเกณฑ์การคัดเลือกขึ้นมาใช้เองก็ได้

พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา CEO บลจ. บัวหลวง ได้กล่าวถึงประสบการณ์จาก "กองทุนรวมคนไทยใจดี (B-Kind) ซึ่งเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ตระหนักและปฏิบัติตามแนวทาง ESGC คือคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคมรวมถึงพนักงาน กับธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชัน โดยกล่าวว่า "บลจ.บัวหลวงได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นเป็นการภายใน โดยใช้วิธีการจัดทำแบบสำรวจให้บริษัทจดทะเบียนกรอกข้อมูล เพื่อเราจะได้กลั่นกรองคัดเลือกเป็นหุ้นใน Eligible Universe ก่อนตัดสินใจลงทุนโดยพิจารณาปัจจัยด้าน ESGC และด้านผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว ซึ่งเราได้สื่อสารให้บริษัทจดทะเบียนเข้าใจและยินดีที่จะให้ข้อมูล หลังจากนั้นเราได้ประเมินผล ติดตามพัฒนาการ ให้เวลาปรับปรุงแก้ไข แต่หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือมีพัฒนาการที่ต่ำลง ก็จะพิจารณาคัดออกจากกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลงทุน โดยปัจจุบันมีหุ้นในกลุ่มที่เป็น Eligible Universe ของ BKINDไม่ต่ำกว่า 90 หลักทรัพย์"

ด้าน ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย มองว่าอุตสาหกรรมควรไปให้ถึง ESG ไม่ใช่หยุดแค่ตัวG หรือ CG ตัว E ตัว S ก็สำคัญมาก ซึ่งแม้วันนี้จะมีเพียง 51 รายชื่อใน THIS ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เชื่อว่าอนาคตจะมีเพิ่มอีกมาก เพราะเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคทั่วโลกเรียกร้องกันมากขึ้น

"ที่ประชุมมีข้อสรุปว่าในช่วงแรกจะใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นโดยใช้รายชื่อที่มีหน่วยงานที่ดำเนินการอยู่แล้ว โดยเครื่องกรองด่านแรกเป็นการใช้รายชื่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ผ่านการประเมินด้านธรรมาภิบาลจาก IOD (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2016) ที่มี CG Rating 3 ดาวขึ้นไป โดยปัจจุบันมี 455 บริษัท มาพิจารณาร่วมกับรายชื่อ บจ.ที่ได้รับการรับรองจาก CAC (Thai IOD) ซึ่งมีประมาณ 120 บริษัท และนำรายชื่อบริษัทที่อยู่ใน THSI(Thailand Sustainable list) ซึ่งเป็นหุ้นยั่งยืนเพราะมี ESG จำนวน 51 บริษัทมาพิจารณาประกอบในด่านแรก โดยอาจจะให้น้ำหนักลงทุนพิเศษกับบริษัทที่ผ่านหลักเกณฑ์ ESG ใน THIS Universe เป็นพิเศษ เช่น ลงทุนกับบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ข้อนี้ด้วยอัตราส่วนที่ไม่ต่ำกว่า X% ของ Total Portfolio เป็นต้น ทั้งนี้ สมาคมน่าจะประกาศรายชื่อบริษัทที่ผ่านเกณฑ์กลั่นกรองด่านแรกที่เข้ามาอยู่ใน Universe เป็นรายตัวให้ทราบได้โดยไม่ผิดกฏหมาย เพื่อกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนให้ความสนใจเรื่องการมีธรรมาภิบาลที่ดี รวมทั้งเป็นการเปิดเผยให้ผู้สนใจจะลงทุนรับทราบล่วงหน้าก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งหลังจากนั้น แต่ละ บลจ.จะมีการกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง โดยนำหุ้นจาก Universe นี้ไปพิจาณาด้วยเกณฑ์การเลือกหุ้นตามสไตล์ลงทุนและการวิเคราะห์เชิงปริมาณและคุณภาพของแต่ละค่าย" วรวรรณ กล่าว

นอกจากนั้น สมาคมฯ ยังได้ขอความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการจัดทำดัชนีของหลักทรัพย์กลุ่มนี้ เพื่อใช้เป็นBenchmark ทั้งสำหรับเปรียบเทียบกองทุนรวม active fund และจัดทำกองทุนรวม passive fund ซึ่งจะมีผลดีในแง่ของการสร้างการรับรู้ให้กับบริษัทจดทะเบียน ผู้ลงทุน และสาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ทหารไทย ให้ความเห็นว่าการพร้อมใจกันจัดตั้งกองทุนรวมนี้ เป็นก้าวหน้าที่สำคัญยิ่งของอุตสาหกรรมกองทุนและตลาดทุนไทย ซึ่งเป็นการสมัครใจสร้างสรรสิ่งที่ดีให้กับสังคมโดยเอกชน และยังจะจัดสรร 40% ของรายได้ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน ให้องค์กรหรือโครงการที่ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมี CG / ESG ที่ดีและส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชั่น

สำหรับกำหนดการเสนอขายกองทุนธรรมาภิบาลไทยนั้น ที่ประชุมกำหนดเป็นภายในปี 2560 เนื่องจากต้องมีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม และจะได้มีการประชุมหารือพิจารณาการประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ใน Universe ทั้งหมด รวมถึงวิธีการพิจารณาคัดเลือกหุ้นเข้าและออกจาก universe ในครั้งต่อไป

ที่มา: กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย

แนวคิดในการจัดตั้ง "กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย" กำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 โดยการประกาศเจตนารมณ์ของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุนโดยสมาชิกคือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 15 บริษัท ซึ่งมีขนาดกองทุนภายใต้การบริหารกว่า 93% จากทั้งหมด 22 บริษัท โดยร่วมมือกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อคนไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และเช้นจ์ เวนเจอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่มีธรรมภิบาลที่ดี

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. เป็นแรงจูงใจให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องมีการบริหารจัดการและดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาลและตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคม

2. เกิดค่านิยมและวัฒนธรรมการทำการค้าที่ซื่อสัตย์ ไม่ร่วมมือกับคนโกงและไม่ยอมให้ใครโกง

3. เป็นแหล่งทุนสนับสนุนการดำเนินงานของภาคประชาสังคม ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเข้มแข็ง ต่อเนื่อง และเป็นอิสระ

4. เป็นการยกระดับตลาดทุนไทยในเรื่องธรรมาภิบาล และเรื่องการทำหน้าที่ที่ดีของผู้ลงทุนสถาบันในการกำกับดูแลกิจการที่กองทุนนำเงินไปลงทุนระยะยาว ซึ่งจะทำให้เกิดผลตอบแทนที่ยั่งยืนในการลงทุนรายชื่อ 15 บลจ.ที่ประกาศจะจัดตั้งกองทุน1. บลจ. กรุงไทย2. บลจ. กรุงศรี3. บลจ. กสิกรไทย4. บลจ. ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล5. บลจ. ทหารไทย6. บลจ. ทาลิส7. บลจ. ทิสโก้8. บลจ. ไทยพาณิชย์9. บลจ. บัวหลวง10. บลจ. บางกอกแคปปิตอล11. บลจ. ภัทร12. บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย)13. บลจ. วรรณ14. บลจ. เอ็มเอฟซี15. บลจ. แอสเซท พลัส